สาธารณสุข เร่งแก้ปัญหาวิกฤติแบบบูรณาการทุกภาคส่วนจัดทำแผนแม่บทกำลังคนด้านสุขภาพที่ภาคอีสานครั้งแรกในประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550-2559 เผยแพทย์ในพื้นที่ภาคอีสาน 1 คนดูแลประชาชนมากกว่าแพทย์ในกรุงเทพฯ 8 เท่า พยาบาล 1 คนดูแลมากกว่าพยาบาลในกรุงเทพฯ 4 เท่า วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2552) ที่จังหวัดขอนแก่น นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเวทีจุดประกาย “ขับเคลื่อนแผนแม่บทกำลังคนด้านสุขภาพสู่การสร้างสุขภาวะภาคอีสาน” ซึ่งเป็นกระบวนการแบบมีส่วนร่วม เพื่อจัดทำแผนกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เหมาะสมกับประชากรใน 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550-2559 เป็นรูปธรรม โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอีสานเผชิญปัญหาการขาดแคลนและการกระจายตัวของบุคลากรด้านสาธารณสุขมากที่สุด ทั้งภาคอีสานมีแพทย์ 4,028 คน ขณะที่แพทย์ในภาคกลางและกทม.มีรวม 12,422 คน เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว สัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากรของภาคอีสานสูงกว่าประมาณ 8 เท่า ในขณะที่สัดส่วนของพยาบาล 1 คนต่อประชากรก็สูงกว่าประมาณ 3-4 เท่าเช่นกัน ในด้านการใช้บริการสุขภาพพบว่า ภาคอีสานมีจำนวนโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 360 แห่ง มีเตียงรับผู้ป่วย 29,553 เตียง รองจากภาคกลางที่มี 371 แห่งและมีเตียง 39,735 เตียง เมื่อเทียบจำนวนเตียงต่อประชากรแล้วพบว่าในภาคอีสาน มีเตียงต่อประชากรน้อยกว่าภาคอื่นๆ ในอัตรา 1 เตียงต่อประชากร 723 คน ขณะที่กทม.เตียง 1 เตียงใช้รับผู้ป่วย 196 คน และภาคอีสานมีปริมาณผู้ป่วยนอกที่ใช้บริการที่โรงพยาบาลเป็นอันดับ 2 รองจากภาคกลาง แต่มีปริมาณผู้ป่วยในใกล้เคียงกับภาคกลาง รวมทั้งภาคอีสานมีจำนวนสถานีอนามัยมากกว่าภาคอื่น ๆ และมีสัดส่วนผู้ใช้บริการที่สถานีอนามัยสูงกว่าภาคอื่นๆ ด้วย นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า การประชุมกำลังคนด้านสุขภาพในวันนี้ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังของฝ่ายที่เกี่ยวข้องครั้งแรกในประเทศ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ขายหรือผู้จัดบริการดูแลสุขภาพรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้แนวทางการบริการประชาชน จะต้องเพิ่มการส่งเสริมสุขภาพลดการเจ็บป่วยของประชาชน ควบคู่กับการรักษาผู้เจ็บป่วย ซึ่งหนีไม่พ้นกำลังคนที่ต้องมีความเหมาะสมกับจำนวนประชากรแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายและการใช้กำลังคนด้านสุขภาพในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรม ทั้งนี้ ภาคอีสานเป็นภาคที่มีพื้นที่มากที่สุด มีประชากร 21 ล้านคนหรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรของประเทศที่มีกว่า 65 ล้านคน แต่ในด้านเศรษฐกิจพบว่ามีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อคนต่ำสุด คือประมาณ 3,659 บาทเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งมีรายได้ 11,284 บาทต่อเดือน และยังมีสัดส่วนของผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนสูงถึงร้อยละ 18 ซึ่งเป็นอัตราสูงเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกทม.และปริมณฑล ซึ่งมีสัดส่วนคนยากจนประมาณร้อยละ 1 ******************** 19 พฤศจิกายน 2552


   
   


View 11    19/11/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ