รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืน ระยะที่ 1 มีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดกว่า 100,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 11-24 ปี ร้อยละ 75 เสพติดยาบ้า อายุน้อยสุดที่พบคือ 9 ขวบ ในปีงบประมาณ 2553 ตั้งเป้าบำบัดทุกระบบ 3 แสนราย และให้ประชาคมมีส่วนร่วมค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเข้าสู่ระบบบำบัด นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เยี่ยมศูนย์บำบัดยาเสพติดแม่ฮ่องสอน พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกับทางภาครัฐในการแก้ไขปัญหา ตามยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ได้แก่ รั้วชายแดน รั้วชุมชน รั้วสังคม รั้วโรงเรียน และรั้วครอบครัว และ 2 มาตรการหลักคือการปราบปรามและการบำบัดรักษา ซึ่งต้องทำควบคู่กัน จึงจะหยุดยั้งและลดการแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติดในประเทศได้ นายวิทยา กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่หลักในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืนระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 -30 กันยายน 2552 มีผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศ เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทุกระบบรวม 105,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 90 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 1.2 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-24 ปี ยาเสพติดที่ใช้มากเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 75 ได้แก่ ยาบ้า รองลงมาเป็นกัญชา ยาไอซ์ ยาเลิฟ และสารระเหย ร้อยละ 85 พอใจในกระบวนการบำบัด “แนวโน้มการใช้ยาเสพติดขณะนี้รุนแรงมากขึ้น มีการนำยาเสพติดหลายชนิดมาผสมกัน เช่น ยาบ้าผสมกัญชา รวมทั้งมีการใช้ยาไอซ์ ซึ่งเป็นผลึกบริสุทธิ์ของยาบ้า ราคาแพง และออกฤทธิ์รุนแรงมากกว่ายาบ้าหลายเท่าตัว และที่น่าเป็นห่วงคืออายุของผู้เสพยาน้อยลงเรื่อยๆ อยู่ระหว่าง 11-24 ปี จากเดิม 15-24 ปี ล่าสุดพบเด็กนักเรียนชายอายุ 9 ปี เสพยาบ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการบำบัด ทุกฝ่ายจะต้องเร่งร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง” นายวิทยากล่าว ด้านนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2553 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าจะบำบัดฟื้นฟูผู้ติด ผู้เสพยาเสพติดทุกชนิดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553 ให้ได้ 3 แสนคน โดยได้เตรียมพร้อมสถานที่บำบัดผู้ติดยา และบุคลากร โดยจะให้ประชาคม เข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาในชุมชน เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ทั้งนี้ได้จัดระบบบำบัดไว้ 3 กลุ่ม ในกลุ่มผู้เสพแต่ยังไม่ติด กระบวนการบำบัดจะอยู่ในชุมชน เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในกลุ่มผู้เสพติดแต่ยังไม่มาก จะบำบัดที่คลินิกยาเสพติดในโรงพยาบาลอำเภอหรือจังหวัด ส่วนกลุ่มผู้เสพติดมาก จะนำเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในศูนย์บำบัดยาเสพติด ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ ******************************* 29 พฤศจิกายน 2552


   
   


View 12    29/11/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ