ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประชุมแจงให้ 4 พื้นที่ภาคเหนือเตรียมรับมือระวังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่กำลังเริ่มระบาดในระลอกที่ 2 ชี้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ขณะนี้มาถึงไทยแล้ว อยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบคุณภาพให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2552 พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนคงมาตรการการดูแลตัวเองเหมือนการระบาดระลอกแรกซึ่งเป็นมาตรการที่ดูแลตัวเองได้ดีที่สุด เผยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงสูงอายุ มีโรคประจำตัว วันนี้(16 ธันวาคม 2552)ที่โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมการดูแลรักษาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำในประเทศไทย แก่สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ในพื้นที่เขต 15 ได้แก่จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน จำนวน 300 คน นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้เตือนให้ทุกประเทศเฝ้าระวังอาการป่วยด้วยโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำซึ่งอาจกลายพันธุ์รุนแรงมากขึ้น เช่น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โรคชิคุนกุนยา เนื่องจากเชื้อโรคอาจมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้การระบาดมีความรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลงได้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งขณะนี้โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อยู่ในช่วงการเริ่มต้นระบาดระลอกที่ 2 นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ความเสี่ยงที่จะมีการขยายการระบาดระลอก 2 นั้นมีปัจจัยเสริม เช่น อากาศที่เย็นลง มีการแพร่เชื้อเข้ามาจากประเทศในซีกโลกเหนือ ซึ่งการมีกิจกรรมการรวมตัวกันของคนหมู่มากในงานเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะในฤดูหนาว รวมทั้งสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้การแพร่กระจายเชื้อเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของไทย ข้อมูลล่าสุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 7 – 13 ธันวาคม 2552 พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1 รายเป็นหญิงอายุ 72 ปี จากจังหวัดชลบุรี มีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและหอบหืด รวมผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่เดินพฤษภาคม 2552 รวมทั้งหมด 190 ราย สำหรับทั่วโลกมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ใน 207 ประเทศ โดยรุนแรงในซีกโลกเหนือ แต่มีแนวโน้มทรงตัวและชะลอในบางประเทศ และพบพื้นที่ระบาดใหม่ในในยุโรปตอนกลางและประเทศแถบตะวันออกกลาง ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เตรียมความพร้อมรับมือหากมีการระบาดของโรคดังกล่าว โดยสร้างความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังโรค การคัดกรอง การรักษาพยาบาล อย่างถูกต้อง รวดเร็ว พร้อมกันนี้ได้พัฒนาทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่อาการอยู่ในภาวะวิกฤติ ให้เป็นที่ปรึกษาแก่แพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการสำรองยาต้านไวรัสอย่างเพียงพอ 20 ล้านเม็ด จัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แก่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ จำนวน 2 ล้านโดส ขณะนี้วัคซีนมาถึงไทยแล้ว 20,000 โดส อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และการควบคุมคุณภาพวัคซีนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2552 นี้ หลังจากขึ้นทะเบียนแล้วจะเริ่มฉีดเข็มแรกในวันที่ 11 มกราคม 2553 โดยวัคซีนจะมาถึงไทยทั้งหมดในเดือนมกราคม 2553 กลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนคือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เช่นแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ห้องแล็ป เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค และประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อลดการเสียชีวิต กลุ่มแรกได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป คนอ้วนที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ผู้พิการที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ บุคคลอายุ 6 เดือน – 64 ปี ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการทำเคมีบำบัด โรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนและไม่มีโรคแทรกซ้อน อย่างไรก็ดี การใช้วัคซีนเป็นมาตรการสุดท้าย ที่จะทำให้ประชาชนอยู่รอดปลอดภัย แต่ที่สำคัญที่สุดและใช้การได้ตลอดไปคือการให้ประชาชนมีความรู้เพื่อดูแลตัวเอง ซึ่งได้ผลดีที่สุด และสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคไข่หวัดใหญ่2009ได้ โดยให้ใช้กระดาษทิชชูปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม หรือไอใส่แขนเสื้อตนเอง หรือสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิว และสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น สถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน หากจำเป็นเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวต้องป้องกันตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรสวมหน้ากากอนามัย และหากป่วยเป็นไข้หวัด ต้องงดกิจกรรมการเดินทาง หยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวในที่สุด ...........................16 ธันวาคม 2552


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ