กระทรวงสาธารณสุข เผยการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในสุกรอยู่ในความคาดหมายของนักวิชาการ พร้อมเฝ้าระวังเจ้าหน้าที่ประจำสถานีวิจัยทับกวาง และนักศึกษาฝึกงานรวม 132 คนที่สัมผัสกับสุกรที่ยืนยันติดเชื้อเป็นเวลา 15 วัน ขณะนี้ผ่านไป 6 วันทุกคนยังปกติดี พร้อมออกคำแนะนำกลุ่มเกษตรกรผู้เสี้ยงสุกร และสัตว์เลี้ยง หากป่วยเป็นไข้หวัดห้ามเข้าไปในฟาร์มหรือสัมผัสสุกรอย่างเด็ดขาด และให้แยกเลี้ยงสัตว์ปีกไม่ให้ปะปนกับสุกร ลดโอกาสเกิดการรวมพันธุกรรมระหว่างไข้หวัดนกกับไข้หวัดหมู
วันนี้ (17 ธันวาคม 2552) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวร่วมกับนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กรณีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสุกรที่สถานีวิจัยทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 (ไข้หวัดใหญ่ 2009) เมื่อ 14 ธันวาคม 2552 ซึ่งสถานีวิจัยดังกล่าวเป็นสถานีปรับปรุงพันธุ์สุกร และเป็นที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาสัตวบาล ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในสุกรครั้งนี้ เป็นไปตามที่นักวิชาการทั้งกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงสาธารณสุข ได้คาดคะเนไว้ว่าอาจเกิดขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ และเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดทั้งในคนและสัตว์ควบคู่กัน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในคน ล่าสุดมีคนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ไปแล้วกว่า 8.5 ล้านคน หลังพบสุกรติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนควบคุมโรคจากสำนักระบาดวิทยา ลงควบคุมการแพร่ระบาดและสอบสวนโรค ร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2552 พบผู้สัมผัสทั้งหมด 132 คน ประกอบด้วย กลุ่มเจ้าหน้าที่ประจำสถานีวิจัย 37 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักงานและเจ้าหน้าที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ 30 คน ผู้เลี้ยงสุกรในฟาร์ม 7 คน และกลุ่มนิสิต นักศึกษา เจ้าหน้าที่ที่มาฝึกงานในฟาร์ม 95 คน ทุกรายมีชื่อที่อยู่ชัดเจน ติดต่อได้ โดยเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 15 วัน เพื่อดูว่าจะมีการติดเชื้อจากสุกรที่ป่วยไปสู่คนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีรายงานคนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จากสัตว์
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผลการเฝ้าระวังจนถึงวันนี้รวม 6 วัน ทุกคนสบายดี จะเฝ้าระวังไปจนถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2552 หากพบรายใดมีอาการป่วย เป็นไข้หวัด เช่นมีอาการไอ มีน้ำมูก หรือเจ็บคอ จะรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้ ในส่วนสถานการณ์ไข้หวัด 2009 ของจังหวัดสระบุรี จากการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ยังไม่พบสถานการณ์ผิดปกติ ด้านผลการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบดื้อยา และเชื้อไม่มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม โดยผู้ป่วยทุกรายที่รักษาด้วยยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้ผลดี ยอดสะสมตั้งแต่พฤษภาคม-13 ธันวาคม 2552 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 29,741 ราย เสียชีวิต 190 ราย
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีการติดต่อไข้หวัดใหญ่ 2009 ระหว่างสัตว์กับคนในต่างประเทศ ถึงแม้มีรายงานการติดเชื้อของสัตว์หลายชนิดจากคนก็ตาม แต่ยังไม่พบการติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คน อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท ในวันนี้ กรมควบคุมโรค ได้ออกคำแนะนำการป้องกันการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ระหว่างคนและสัตว์เลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยงเชื้อกลายพันธุ์ สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ปฏิบัติตัวดังนี้
1.ให้หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น เป็ด ห่าน ไก่ นก ในบริเวณเดียวกับที่เลี้ยงสุกร เพื่อลดโอกาสที่เชื้อจะรวมพันธุกรรมระหว่างไข้หวัดนกกับไข้หวัดในสุกร 2.ห้ามผู้ที่มีอาการไข้หวัด เข้าไปในสถานที่เลี้ยงสุกร หรือสัมผัสสุกรโดยเด็ดขาด 3. หากสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น ไอ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ถ้ามีอาการน้อยให้หยุดงานอยู่ที่บ้านประมาณ 7 วัน ถ้าอาการมากหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจป่วยหนัก เช่น มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเลือด หรือกำลังตั้งครรภ์ ต้องรีบไปโรงพยาบาล ห้ามเข้าฟาร์มหรือคอกสัตว์ 4.ผู้ที่เข้าปฏิบัติงานในฟาร์มควรใส่รองเท้าบู๊ทและแช่ในอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนและหลังเข้าคอกสัตว์เลี้ยง และควรอาบน้ำ ซักล้างทำความสะอาดชุดปฏิบัติงานหลังเลิกงาน เพื่อป้องกันการแพร่หรือรับเชื้อจากสุกร 5.ควรมีอ่างล้างมือในคอกเลี้ยงสุกร และเกษตรกรต้องล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังสัมผัสสัตว์และอุปกรณ์ในคอกสัตว์ 6.ขณะเข้าทำงานในฟาร์มสุกรให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูกและปากของตนเอง 7.ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่รายงานการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จากการบริโภคเนื้อหมูก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัยขอให้ปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง และ 8.หากพบสัตว์เลี้ยงมีอาการไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ซึม เบื่ออาหาร ให้แจ้งปศุสัตว์เพื่อตรวจอาการและให้การรักษาตามมาตรฐาน
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อน เช่น แมว สุนัข หากพบสัตว์เหล่านี้ป่วยเป็นไข้หวัดมีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เบื่ออาหาร ซึม หรือมีเยื่อตาอักเสบบวมแดง หากจะสัมผัสสัตว์ต้องสวมถุงมือ อย่าสัมผัสด้วยมือเปล่า และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ และรีบพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจอาการและให้การรักษา ควรให้สัตว์เลี้ยงที่ป่วยอยู่ในกรง ตะกร้า หรือกล่อง เพื่อลดการอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ และระหว่างการเดินทางควรใช้เจลแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ไม่ใช้มือแคะจมูก ปาก หรือจับใบหน้า ประการสำคัญหากผู้เลี้ยงมีไข้ไอเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ซึ่งอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ จะต้องไม่อยู่ใกล้ชิดหรือดูแลสัตว์เลี้ยงใด ๆ ทั้งสิ้น
*********************************** 17 ธันวาคม 2552
View 14
17/12/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ