ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังโรคพิษสุนัขบ้าในหน้าหนาว หากถูกสุนัขกัด ต้องรีบพบแพทย์ด่วน เพื่อฉีดวัคซีน เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะป้องกันการเสียชีวิต หากสุนัขที่กัดมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าปล่อยให้มีอาการป่วยจะเสียชีวิตทุกราย เพราะขณะนี้ไม่มียารักษาในปี 2552 นี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 24 ราย มีสาเหตุมาจากสุนัขทั้งสิ้น เป็นสุนัขทั้งมีและไม่มีเจ้าของ
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ว่า จากการประเมินในปี 2552 นี้พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2551 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 จนถึงขณะนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 24 รายใน 10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี 4 ราย ราชบุรี 2 ราย สุพรรณบุรี 2 ราย ระยอง 2 ราย นนทบุรี ปราจีนบุรี สมุทรสาคร ตาก จังหวัดละ 1 ราย กรุงเทพมหานคร 7 ราย สงขลา 3 ราย เนื่องจากไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันหลังถูกกัด ในขณะที่ปี 2551 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 9 ราย
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังมีประชาชนบางส่วนเข้าใจผิดว่า โรคพิษสุนัขบ้าจะเกิดในฤดูร้อนเท่า
นั้น แท้จริงแล้วพบได้ทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูหนาวจัดเป็นฤดูกาลแพร่โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ เนื่องจากเป็นฤดูผสมพันธุ์ของสุนัขในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยสุนัขตัวผู้จะได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากการต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย เชื้อจะออกมาทางน้ำลาย และติดต่อสู่คนโดยการกัด ข่วนหรือเลีย คนติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการป่วยประมาณ 4 วันจนถึง 3-4 ปีก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ปี และจะเสียชีวิตทุกราย เพราะโรคนี้ไม่มียารักษา ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เผยแพร่ความรู้โรคพิษสุนัขบ้าให้ประชาชนทราบเพื่อป้องกันการเสียชีวิต
ทางด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คนที่มีความรุนแรงมาก อาการโรคนี้คือมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คันบริเวณรอยแผลที่ถูกสัตว์กัด อาการคันลามไปที่อื่น ต่อมาจะหงุดหงิด น้ำลายไหลมาก กล้ามเนื้อคอกระตุกเกร็ง บางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง มักป่วยประมาณ 2-6 วัน และเสียชีวิตทุกราย การป้องกันที่ได้ผลที่สุด คือ เลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ นำสุนัขที่เลี้ยงทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกสุนัขกัด โดยอย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าหยิบจับ อย่ายุ่ง อย่าหยอก กับสุนัขแปลกหน้า หากถูกกัดให้กักสุนัขไว้เพื่อสังเกตอาการ รีบล้างแผลใส่ยา และพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนจนครบ โดยมีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเฉลี่ยปีละกว่า 400,000 ราย
ทั้งนี้ สุนัขทุกวัยมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ในลูกสุนัขจะได้รับเชื้อมาจากแม่ขณะเลียปากลูก สุนัขที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการทั้งชนิดซึมและชนิดดุร้าย ชนิดซึมสุนัขมักจะหลบซุกตัวในมุมมืด ถ้าถูกรบกวนอาจจะกัด บางตัวอาจมีอาการคล้ายมีกระดูกติดคอ เจ้าของจึงเข้าใจผิดพยายามใช้มือล้วงปากสุนัขเพื่อหาเศษกระดูก ทำให้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ ส่วนชนิดดุร้าย สุนัขจะมีอาการทางประสาท กระวนกระวาย หงุดหงิด ดุร้าย กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า ในระยะสุดท้ายสุนัขจะมีขากรรไกรแข็ง ปากอ้า ลิ้นห้อย น้ำลายไหล วิ่งไม่มีจุดหมาย เป็นอัมพาต และตายในที่สุด
นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนมีความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 5 เข็ม และไม่ต้องฉีดทุกวัน อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัข โดยเริ่มฉีดครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุตั้งแต่ 2 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี หากโดนกัด ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่หลาย ๆ ครั้ง ล้างให้ลึกถึงก้นแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อเช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน แอลกอฮอล์ แล้วรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
*************************************** 27 ธันวาคม 2552
View 13
27/12/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ