สาธารณสุขจับมือมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ร่วมผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ป้อนพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยให้ ร.พ.ในสังกัดฯ 5 แห่ง ได้แก่ ร.พ.พะเยา ร.พ.น่าน ร.พ.แพร่ รพ.ลำปาง และร.พ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จัดการเรียนการสอนในระดับคลินิก รวมทั้งศึกษาวิจัยปัญหาสุขภาพพื้นที่ พัฒนาองค์ความรู้ วันนี้ (28 ธันวาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.พรชัย นุชสุวรรณ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพหลายสาขาให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทย มีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอในการให้บริการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน โดยเฉพาะการรับมือกับภาวะสังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว การพัฒนายกระดับสถานีอนามัย 9,810 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จึงจำเป็นต้องเร่งผลิตบุคลากรทุกสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทย์แผนไทย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสาขาต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ตามบันทึกข้อตกลงนี้ กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา จะร่วมกันผลิตและพัฒนาบุคลากรสาขาต่าง ๆ ได้แก่ แพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ เทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด สาธารณสุขศาสตร์ และแพทย์แผนไทยประยุกต์ ให้มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยให้รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 5 แห่ง ได้แก่ รพ.พะเยา รพ.น่าน รพ.แพร่ รพ.ลำปาง และรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จัดการเรียนการสอนในระดับคลินิก ซึ่งเป็นขั้นตอนของการฝึกภาคปฏิบัติจริง ให้ได้ตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านวิชาการ คุณวุฒิ และตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งร่วมกันศึกษาวิจัยปัญหาสุขภาพของพื้นที่ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุข และเป็นแหล่งฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติด้านบริหาร บริการ วิชาการเพื่อแก้ไขและพัฒนาระบบสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของการผลิตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 13 แห่ง เริ่มรับนักศึกษาตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา เน้นการคัดเลือกนักศึกษาจากพื้นที่และเรียนจบกลับไปทำงานในภูมิลำเนา ขณะนี้มีแพทย์ในโครงการจบการศึกษาทำงานในพื้นที่ชนบทแล้ว 1,738 คน ในวันที่ 1 เมษายน 2553 จะมีแพทย์จบใหม่อีก 405 คน และกำลังเรียนชั้นปีที่ 1 – 6 อยู่อีก 2,766 คน สำหรับบุคลากรสาขาอื่น ๆ สถาบันพระบรมราชชนก วางแผนผลิตบุคลากรระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2550 – 2559 ทั้งโครงการปกติ โครงการไทยเข้มแข็งและเมกกะโปรเจค โดยจะผลิตพยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุขชุมชน แพทย์แผนไทย นักเวชระเบียน เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน และหลักสูตรประกาศนียบัตรต่าง ๆ รวม 66,460 คน เพื่อเติมเต็มบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ******************************************28 ธันวาคม 2552


   
   


View 11    28/12/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ