สาธารณสุข รณรงค์สร้างค่านิยมคนไทย สวัสดีปีใหม่ ไร้แอลกอฮอล์ เตือนประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ถ้าเป็นผู้ขับขี่ขอให้พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มเหล้าเบียร์ หากดื่มแล้วขับมีโทษทั้งจำและปรับ เผยปี 2550 พบวัยทำงานดื่มสุราสูงสุดร้อยละ 34 ในรอบ 9 เดือนปี 2552 คนไทยใช้เงินซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริโภคมูลค่ากว่า 102,296 ล้านบาท เฉลี่ยรายละเกือบ 7,000 บาท
เช้าวันนี้ (29 ธันวาคม 2552) เวลา 07.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำทีมผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรคและเครือข่าย รณรงค์สวัสดีปีใหม่ ไร้แอลกอฮอล์ ช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ 2553 ณ บริเวณลานหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้แจกสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ของที่ระลึกชุดเตรียมพร้อมเดินทาง กระเช้าของขวัญไร้แอลกอฮอล์ ให้กับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล พร้อมจัดแสดงชุดนิทรรศการเรื่อง พิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
นายมานิต กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมาของคนไทยในปี 2550 พบประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมีจำนวน 51.2 ล้านคน เป็นผู้ที่ดื่มสุราร้อยละ 14.9 ล้านคน หรือร้อยละ 29 โดยผู้ชายยังคงดื่มสุรามากกว่าหญิงประมาณ 6 เท่า และผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลมีอัตราการดื่มสุราสูงกว่าผู้อยู่ในเขตเทศบาลคือร้อยละ 31 และ 25 ตามลำดับ กลุ่มวัยทำงานมีอัตราการดื่มมากกว่ากลุ่มอื่นร้อยละ 34 และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ กลุ่มเยาวชนมีอัตราการดื่มสุราสูงถึงร้อยละ 22 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ประชาชนดื่มมากที่สุดคือเบียร์ร้อยละ 46 รองลงมาคือเหล้าขาวร้อยละ 39 และสุราสียี่ห้อไทยร้อยละ 11 สาเหตุของการเริ่มดื่มสุราพบว่าการสังสรรค์ การเข้าสังคม ร้อยละ 41 รองลงมาคืออยากทดลองดื่มร้อยละ 30 และตามเพื่อนร้อยละ 23
ทั้งนี้จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในรอบ 9 เดือน ของปี 2552 พบคนไทยมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มูลค่ากว่า 102,296 ล้านบาท เมื่อคำนวณจากผู้ที่ดื่มซึ่งมีทั้งหมด 14.9 ล้านคน เฉลี่ยใช้เงินซื้อเหล้า-เบียร์ดื่มเฉลี่ยรายละ 6,865 บาท
นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อมูลการบาดเจ็บในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 367 ราย บาดเจ็บ 4,107 ราย โดยพบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีอายุ 15-24 ปี มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด สาเหตุอันดับแรกเกิดจากการเมาแล้วขับ จึงขอเตือนประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ถ้าเป็นผู้ขับขี่ขอให้งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนออกเดินทางพักผ่อนให้เพียงพอ หากเป็นผู้ใช้รถยนต์ ให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ส่วนผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และโดยสาร ต้องสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ล้อหมุน
ในทางกฎหมายเมื่อผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ และถูกตรวจพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือศาลอาจสั่งให้ถูกคุมประพฤติ ทำงานบริการสังคม หากดื่มแล้วขับทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากดื่มแล้วขับทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
******************************* 29 ธันวาคม 2552
View 13
29/12/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ