ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ชี้การลงทุนพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปจำเป็นต้องทำ เพราะเป็นจุดรองรับผู้ป่วยหนัก หากอ่อนแอ ประชาชนในชนบทจะขาดที่พึ่งพิง และขาดความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยในชีวิตหลังเจ็บป่วย งบที่ได้ขณะนี้ทั้งสิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ ในพรก.และพรบ. รวม 24,720 ล้านบาท ยังไม่เพียงพอ ขาดอีก 14,000 ล้านบาท
นายแพทย์วีระพงษ์ เพ่งวาณิชย์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ในวันนี้ (30 ธันวาคม 2552) ทางชมรมฯ ได้นำคณะ เข้าพบนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ข้อมูลการจัดสรรงบประมาณโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2555 พบว่า ในส่วนของงบตาม พรก.ของกระทรวงที่ได้รับจัดสรรทั้งหมด 11,000 ล้านบาทนั้น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจังหวัดขนาดใหญ่ทั่วประเทศ จำนวน 94 แห่ง ได้งบประมาณราว 400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.6 ของงบทั้งหมด ในขณะที่งบส่วนใหญ่ ทุ่มไปให้โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
นายแพทย์วีระพงษ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสภาพอาคารต่างๆ ของโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 99 เป็นอาคารเก่า จำนวนเตียงจำกัด ทำให้สภาพผู้ป่วยนอนล้นออกนอกห้อง ต้องนอนตามทางเดิน ขณะที่โรงพยาบาลทุกแห่งไม่สามารถปฏิเสธการรับผู้ป่วย ทั้งที่มาด้วยตนเองและส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดได้ ซึ่งในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลศูนย์ต้องรับผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มจากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 60 จึงมีความจำเป็นจะต้องมีการลงทุนพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทั้งในเรื่องของสิ่งก่อสร้าง และเครื่องมือแพทย์ชนิดไฮเทคซับซ้อน ราคาแพง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย ทั้งโรคเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคสูงอายุที่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน ตามทิศทางการพัฒนาการแพทย์ของโลก เนื่องจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในชนบท ที่มีสัดส่วนร้อยละ 80 ของทั้งประเทศ
นายแพทย์วีระพงษ์กล่าวต่อไปว่า งบที่ได้ขณะนี้ทั้งสิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ ในพรก.และพรบ. รวม 24,720 ล้านบาท ยังไม่เพียงพอ ขาดอีกประมาณ 14,000 ล้านบาท เมื่อพิจารณาความต้องการของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 มีความต้องการด้านครุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ 11,000 ล้านบาท แต่ได้งบประมาณทั้งในส่วนพรก. และพรบ. รวม 5,000 ล้านบาท ยังขาดอีก 6,000 ล้านบาท ส่วนสิ่งก่อสร้างได้รับงบ 19,332 ล้านบาท ต้องการอีก 8,000 ล้านบาท หากได้รับการจัดสรรมั่นใจว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานในภูมิภาค จะเกิดความเชื่อมั่นต่อศักยภาพบริการที่จะมอบให้ผู้ใช้บริการ/ผู้ป่วย มากยิ่งขึ้น
หากโรงพยาบาลขนาดใหญ่อ่อนแอ หรือมีความไม่พร้อมในการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักแล้ว ชาวบ้านจะมีที่พึ่งที่ใด หรือมีความมั่นใจว่าชีวิตจะอยู่รอดปลอดภัยอย่างไร หรือถนนทุกสายจะเต็มไปด้วยรถพยาบาลขนผู้ป่วยหนักวิ่งเข้ารักษาในตัวกรุงเทพมหานครที่เดียว นายแพทย์วีระพงษ์กล่าว
********************************* 30 ธันวาคม 2552
View 11
30/12/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ