รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่โรงพยาบาลปากช่องนานา และโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา เผย ผ่านเกณฑ์โรงพยาบาลอัจฉริยะทั้งสองแห่ง มีการใช้ระบบดิจิทัลช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการสะดวก รวดเร็ว พร้อมพัฒนาบริการทางการแพทย์ขั้นสูง ทั้งหลอดเลือดสมองและหัวใจ คลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลปากช่องนานา ช่วยค้นหาเด็กพัฒนาการช้าเข้าระบบเพิ่มขึ้นถึง 33% ส่วนคลินิกส่งเสริมการมีบุตร โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา รักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง ช่วยตั้งครรภ์สำเร็จรายแรกของประเทศ

 วันนี้ (1 กรกฎาคม 2567) ที่จังหวัดนครราชสีมา นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์) ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว ลดความแออัด ลดการรอคอย และลดการส่งต่อ โดยที่โรงพยาบาลปากช่องนานา ได้ผ่านเกณฑ์การพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับเพชร มีการใช้ระบบดิจิทัลทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเป็นแห่งแรกของภาคอีสานและเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพข้อมูลการรักษาและการเบิกจ่าย, มีระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์, ใช้หุ่นยนต์จัดยา เป็นต้น

“ด้านศักยภาพการบริการ นอกจากมีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก ยังมีอายุรแพทย์โรคหัวใจ ประสาทวิทยาเวชศาสตร์การกีฬาและกระดูกสันหลัง และโรคหลอดเลือดสมอง ได้วางแผนเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยเพื่อใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง (Thrombectomy) และเตรียมเปิดห้องปฏิบัติการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cath Lab) นอกจากนี้ ยังเปิดคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ช่วยค้นหาเด็กพัฒนาการช้าเข้าระบบเพิ่มขึ้นถึง 33% ลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาลจาก 6 เดือน เหลือ 1 เดือน” นายสันติกล่าว

นายสันติกล่าวต่อว่า สำหรับโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับทอง ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดบริการสุขภาพประชาชน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ลดความแออัด และยังเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายด้านโรคหลอดเลือดสมองทั้งตีบและแตกเฉียบพลัน รับส่งต่อผู้ป่วยจาก อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.ด่านขุนทด
อ.เทพารักษ์ และ อ.เมือง มีหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 16 เตียง นอกจากนี้ ยังตอบสนองวาระแห่งชาติ โดย
เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร รักษาสตรีที่มีภาวะมีบุตรยาก 9 ราย ด้วยวิธีฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (Intea-Uterine Insemination : IUI) และตั้งครรภ์สำเร็จ 1 ราย เป็นรายแรกของประเทศ และเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของจังหวัดนครราชสีมาที่สามารถทำได้สำเร็จ ตั้งแต่มีการจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร รวมทั้งได้นำการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมาใช้ในการรักษา ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะกลางร่วมกับสหวิชาชีพ, พัฒนาสูตรยาพอกสมุนไพรลดอาการปวดเข่าในผู้สูงอายุ และเป็นแหล่งฝึกทักษะวิชาชีพแพทย์แผนไทยในจังหวัดนครราชสีมาเรื่องนวดกระตุ้นกลืน อีกด้วย

 *************************************************  1 กรกฎาคม 2567

 



   
   


View 404    01/07/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ