ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 11 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช พัฒนาศักยภาพเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งครบวงจร ทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา จนถึงดูแลระยะประคับประคอง ตรวจวินิจฉัยมะเร็งด้วยเครื่อง PET/CT Scan เทคโนโลยีด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ให้บริการรังสีรักษาได้ถึง 100 คนต่อวัน ลดระยะเวลารอคอยคิวฉายรังสีเหลือไม่เกิน 6 สัปดาห์ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้ตอนบนได้รับการรักษาใกล้บ้านมากขึ้น
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพสถานบริการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ว่า โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ ดูแลประชากรภายในจังหวัดกว่า 1.5 ล้านคน และจังหวัดข้างเคียงในเขตภาคใต้ตอนบน ได้พัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ถึง 13 สาขา และมีแผนที่จะพัฒนาเพิ่มให้ครอบคลุม 19 สาขา ภายในปี 2570 โดยในด้านมะเร็งครบวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชถือว่ามีศักยภาพสูงมาก นอกจากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ยังมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ทุกระบบและครบวงจร ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา จนถึงการดูแลในระยะประคับประคอง ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้ตอนบนได้รับการรักษาใกล้บ้านมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้านนายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการศูนย์รังสีรักษาเป็นแห่งแรกของ 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2562 มีแพทย์รังสีรักษา 4 คน นักฟิสิกส์การแพทย์ 2 คน นักรังสีการแพทย์ 7 คน พยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางสาขาการพยาบาลรังสีรักษา 4 คน สามารถให้บริการฉายรังสีผู้ป่วยได้ถึง 100 คนต่อวัน ช่วยลดระยะเวลารอคอยเข้ารับการฉายรังสีเหลือ 6 สัปดาห์หรือน้อยกว่า โดยในปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับบริการรังสีรักษา 1,183 คน ได้ตั้งเป้าหมายให้บริการฉายรังสีผู้ป่วยใหม่ 1,200 คนต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ให้การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่อง PET/CT Scan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นเครื่องแรกของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
**************************************************** 4 กรกฎาคม 2567