รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย โรงพยาบาลคง จังหวัดนครราชสีมา ใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ สร้างความร่วมมือจัดตั้งมินิธัญญารักษ์บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดระยะยาวในชุมชน ใช้กิจกรรมบำบัดแบบวิถีพุทธ มีทีมสหวิชาชีพดูแลต่อเนื่อง ติดตามจนครบ 1 ปี ผู้หลงผิดส่วนใหญ่ได้กลับคืนไปใช้ชีวิตปกติ ทั้งเรียนหรือทำงาน ส่วนผู้กลับไปเสพซ้ำได้รับการติดตามเข้าสู่กระบวนการบำบัด

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันดูแลอย่างต่อเนื่องจนกลับคืนสู่ชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ หรือเกิดอาการทางจิตเวชจนมีพฤติกรรมรุนแรงเป็นอันตราย ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลคง จังหวัดนครราชสีมา พบว่า มีการใช้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นกลไกสร้างความร่วมมือในการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์อำเภอคง ที่วัดบ้านหมัน (ชัยมงคล) ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดระยะยาวในชุมชน (long term care) ใช้เวลาประมาณ 2-4 เดือน มีการทำกิจกรรมบำบัดแบบวิถีพุทธฯ มีทีมบำบัดฯ เป็นสหวิชาชีพของโรงพยาบาล และทีมงานสุขภาพจิตและยาเสพติดของทุก รพ.สต. ร่วมกันทำงานและติดตามต่อเนื่องจนครบ 1 ปี ซึ่งนอกจากจะบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนได้ผลดี ยังสามารถช่วยให้หยุดบุหรี่และสุราได้ โดยผู้ผ่านการบำบัดร้อยละ 80 ได้รับการยอมรับและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งกลับไปศึกษาต่อเป็นจิตอาสาช่วยงานที่โรงพยาบาล รับจ้างดูแลสวน/ทำนา เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 20 ที่กลับไปเสพซ้ำ มีการติดตามพฤติกรรมและนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดต่อไป

ด้านนายแพทย์พีรวัฒน์ ลิ้มมหาคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคง กล่าวว่า โรงพยาบาลคงมีผู้รับบริการในหน่วยบริการจิตเวชและยาเสพติด ปีละประมาณ 130 คน ผู้ป่วยทุกคนจะผ่านการคัดกรองและดูแลในสถานพยาบาลก่อน จากนั้นจะคัดแยกเพื่อส่งไปบำบัดที่มินิธัญญารักษ์ หรือส่งไปบำบัดในชุมชน (CBTx) ตามความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ โดยกิจกรรมในกระบวนการบำบัดรักษาของมินิธัญญารักษ์ ประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลปัญหาของผู้ป่วยเพื่อประเมินและคัดกรองปัญหาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการบำบัด และนำข้อมูลที่ได้ประชุมร่วมกับทีมสหวิชาชีพ/ภาคีเครือข่าย เพื่อวางแผนการดูแล พร้อมคืนข้อมูล/ปัญหาให้กับครอบครัวและชุมชน เพื่อให้ครอบครัวและผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและยินยอมเข้ารับการบำบัดด้วยความสมัครใจ ซึ่งตลอดระยะเวลาของการบำบัดจะมีทีมเจ้าหน้าที่ดูแล สังเกตอาการตลอด 24 ชั่วโมง มีการสร้างทักษะอาชีพให้กับผู้ป่วยโดยภาคีเครือข่าย และมีทีมพี่เลี้ยงจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่น คอยให้คำปรึกษา

 ************************************************* 9 กรกฎาคม 2567



   
   


View 1893    09/07/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ