กระทรวงสาธารณสุข ชวนแอ่ว งานมหกรรม Chiang Mai Street Food Good Health from Local to Global พร้อมจับมือภาคีเครือข่ายพัฒนาและยกระดับอาหารริมบาทวิถี ให้ “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” SAN & SAN Plus สู่สากล ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงใหม่
            วานนี้ (14 กรกฎาคม 2567) นางจิตรา หมีทอง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมเสริมพลังมหกรรม Chiang Mai Street Food Good Health from Local to Global พร้อมด้วย นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงสิดาพัณณ์ ยุตบุตร รองผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ นายแพทย์นิมิต อินปั๋นแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายถนนคนเดินเชียงใหม่ ณ ลานจัดกิจกรรมประตูท่าแพ ถนนคนเดินเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าอาหาร
ริมบาทวิถี หรือ “Street Food” ของไทย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากทั้งจากชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายให้พัฒนาและยกระดับอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐาน SAN & SAN Plus ทั้งสถานที่ อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร บุคคล สัตว์และแมลงนำโรค ที่จะต้อง “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” สู่ระดับสากล เทียบเท่าเครื่องหมายมิชลิน  ที่ได้รับการยอบรับและเชื่อมั่นด้านความอร่อยจากทั่วโลก โดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่จะช่วยกันสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) มีการสร้างระบบและกลไกภาคีเครือข่ายในการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีในระดับพื้นที่ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คณะกรรมการชมรม สมาคมผู้ประกอบการอาหารริมบาทวิถีและหน่วยงานภาครัฐ – เอกชนที่เกี่ยวข้อง 2) มีมาตรฐาน SAN & SAN Plus ที่แสดงถึงสุขลักษณะ และความปลอดภัยของอาหาร พร้อมเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามและเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางด้านโภชนาการ 3) มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น การจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ส่งเสริมการจำหน่ายอาหารประจำถิ่น การแต่งกายพื้นเมือง เป็นต้นพร้อมฝากผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับ SAN และ SAN Plus เพราะ “มี SAN ไม่มีเซ็ง” แน่นอน  
               นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนนิยมการรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะ “Street Food” ได้รับความนิยมอย่างมาก กรมอนามัยจึงยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีไทยสู่สากล (Thailand Street Food Good Health from Local to Global) ผ่านมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” SAN&SAN Plus ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ 1) มิติสุขภาพ 10 ข้อ การจัดการสุขาภิบาลอาหาร ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารผ่านการอบรม 2) มิติเศรษฐกิจ การแสดงป้ายราคา รายการเมนูหลายภาษา และการประชาสัมพันธ์ 3) มิติสังคม สร้างความร่วมมือของผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน มีระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และ4) มิติวัฒนธรรม เป็นการสื่อสารอาหารพื้นถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ การแต่งกายประจำถิ่น เพื่อสร้างให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่สะอาด 
ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคจุลินทรีย์ก่อโรค สารพิษ หรือสารเคมีอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ “Street Food” ในแต่ละจังหวัดยังมีความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารในแต่ละพื้นที่ ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกัน 
เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมท้องถิ่น ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และแสดงออกถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย

      ***

 

กรมอนามัย  /  15 กรกฎาคม 2567





View 191    15/07/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย