กระทรวงสาธารณสุข หนุน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน  พบสั่งใช้ยาไทยในระบบบริการสุขภาพมีมูลค่า 1,298 ล้านบาท ล่าสุดได้ผลักดันให้มีการเพิ่มงบประมาณการผลิตสมุนไพรเพิ่มอีก 50% จากเดิม 1,000 ล้าน เป็น 1,500 ล้าน คาดว่าจะช่วยเพิ่มยาสมุนไพรและตำรับยาไทยในระบบบริการให้มีใช้อย่างเพียงพอ หลากหลาย และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
          นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดประชุมสื่อสารนโยบายไปยังเภสัชกรที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันในหน่วยบริการสุขภาพ ตลอดจนพัฒนานวัตกรรม และงานวิจัย ตามที่นโยบาย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งหวังให้มีการขับเคลื่อนงานด้านสมุนไพรและยาไทย ให้มีงานวิจัย และนวัตกรรมที่สามารถใช้เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยในการรักษา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางยา และลด  การนำเข้าวัตถุดิบและยาจากต่างประเทศ ซึ่งการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ยังจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านการใช้ยาแผนไทยแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้มากขึ้น ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันให้มีการเพิ่มงบประมาณการผลิตยาสมุนไพรเพิ่มอีก 50% จากเดิม 1,000 ล้าน เป็น 1,500 ล้าน คาดว่าจะช่วยเพิ่มยาสมุนไพรและตำรับยาไทยในระบบบริการ ให้มีใช้อย่างเพียงพอ มีความหลากหลาย และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย 
           ปัจจุบัน กรมการแพทย์แผนไทยฯ สนับสนุนให้มีการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทดแทนยาแผนปัจจุบัน จำนวน 18 รายการ และมีแผนที่จะขยายเพิ่มจำนวนรายการยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันต่อไปอีกเรื่อยๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถได้เข้าถึงยาสมุนไพรที่มีคุณภาพในระบบบริการทางการแพทย์ นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานภาคเอกชนที่ผลิตยาสมุนไพร ประมาณ 1,000 แห่ง มีโรงงานสกัด จำนวน 11 แห่ง โรงงานผลิตยาสมุนไพร WHO GMP ทั่วประเทศ จำนวน 46 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ 
            จากข้อมูลระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Health Data Center : HDC) พบว่า มูลค่าการจ่ายยา   จากสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุข มีมูลค่า 1,298 ล้านบาท ในส่วนมูลค่าจากสมุนไพรที่ผลิตจากโรงงาน WHO GMP  มีมูลค่า 266 ล้านบาท เป็นมูลค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย ยาเดี่ยว 158 ล้านบาท ยาตำรับ 69 ล้านบาท  ยานอกบัญชียา 39 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของมูลค่าการจ่ายยาในระบบ สำหรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มีการจ่ายสูงสุด 10 อันดับแรก ของปี พ.ศ. 2562-2566 ได้แก่ 1) ฟ้าทะลายโจร 2) ขมิ้นชัน 3) มะขามแขก 4) เถาวัลย์เปรียง 5) ยาประสะมะแว้ง และยาอมมะแว้ง 6) มะระขี้นก 7) สหัสธารา 8) ยาเพชรสังฆาต 9) ขิง 10) ตรีผลา และยาสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ของปี พ.ศ. 2562-2566 ได้แก่ 1) ฟ้าทะลายโจร 2) ขมิ้นชัน 3) มะขามแขก 4) ไพลและน้ำมันไพล 5) ยาแก้ไอมะขามป้อมและยาแก้ไอผสมมะขามป้อม 6) ยาประสะมะแว้ง และ ยาอมมะแว้ง 7) ยาประคบ 8) เถาวัลย์เปรียง 9) สหัสธารา และ 10) ยาธาตุอบเชย
             ทางด้าน ดร.ภญ.ดวงแก้ว ปัญญาภู  รองผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กล่าวว่า เภสัชกรเป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นบุคลากรที่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรมากที่สุด ทั้งในด้านของข้อบ่งใช้  ข้อควรระวัง และการติดตามผลการรักษา ในส่วนของเภสัชกรที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลจะเกี่ยวข้องกับสมุนไพรในหลายบทบาท ที่สำคัญ คือ เป็นเลขานุการคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด  ซึ่งทำหน้าที่ดำเนินการจัดการระบบตำรับยา จัดทำข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณานำยาเข้าตำรับรายการยาของโรงพยาบาล และบริหารจัดการด้านความปลอดภัยจากการใช้ยา รวมไปถึงการจ่ายยาและให้คำแนะนำ ปรึกษา เรื่องการใช้ยาแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้  ในบางโรงพยาบาล  ที่มีโรงงานผลิตยาสมุนไพรมาตรฐาน WHO GMP เภสัชกรยังมีหน้าที่ในการจัดการด้านการผลิตยาสมุนไพร ดังนั้น เภสัชกรจะเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ ซึ่งเป็นโอกาสของการพัฒนายา จากสมุนไพรไทย ให้มีมาตรฐานและมีมากเพียงพอต่อการใช้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางยา และเสริมเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ต่อไป
                                             

                                                    ……………………………………..17 กรกฎาคม 2567.................................................
 



   
   


View 374    17/07/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก