สาธารณสุข กำหนดฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ล้านโด๊สให้กลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน ผู้พิการรุนแรงที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอายุ 6 เดือน-64 ปี รวมที่ขึ้นทะเบียนพร้อมฉีด 1,969,750 คน มากที่สุดคือกทม. น้อยสุดที่แม่ฮ่องสอน เริ่มวันที่ 11 มกราคม - มีนาคม 2553 ฉีดในโรงพยาบาลรัฐทั้งในและนอกสังกัด ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ตกสำรวจหรือผู้หญิงที่เพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์สามารถแจ้งชื่อเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาลสาธารณสุขใกล้บ้าน วันนี้ (7 มกราคม 2552) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และคณะแถลงข่าว “การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกลุ่มเสี่ยง” ว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อน 5 กลุ่มจำนวน 2 ล้านคนทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 11 มกราคมถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2553 เป็นอีกมาตรการสำคัญที่จะลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม หลังจากที่ไทยได้ดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น จนสามารถลดการป่วยและเสียชีวิตได้ในระดับหนึ่ง จากการเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน จนถึงล่าสุด 26 ธันวาคม 2552 ไทยพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 191 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยคาดว่าในช่วงระบาดระลอกแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2552 มีอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยร้อยละ 13 คาดประมาณไทยมีผู้ติดเชื้อแล้ว 8.4 ล้านคน สำหรับวัคซีนที่ฉีดครั้งนี้เป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อตาย จำนวน 2 ล้านโด๊ส ผลิตจากบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกใช้ โดยการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะนี้ยังไม่เพียงพอสำหรับคนทั่วโลก ประเทศไทยได้วัคซีนในปริมาณจำกัด จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ในกลุ่มเสี่ยงสูงก่อน ส่วนประชาชนทั่วไป ขอให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ก็จะปลอดภัยจากโรค นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนครั้งนี้ ทั่วประเทศมีทั้งหมด 1,969,750 คน ประกอบด้วย 1.แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าดูแลผู้ป่วย 371,424 คน 2.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน 500,915 คน 3.ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม 182,384 คน 4.ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 72,132 คน และ5.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอายุ 6 เดือน–64 ปี ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างรับเคมีบำบัด โรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เบาหวานที่มีและไม่มีโรคแทรกซ้อน 842,895 คน จังหวัดที่คาดว่าจะมีผู้ฉีดวัคซีนมากที่สุดได้กทม. 310,320 คน รองลงมาคือชลบุรี 83,180 คน อุบลราชธานี 64,100 คน เชียงใหม่ 58,560 คน น้อยที่สุดคือแม่ฮ่องสอน 4,440 คน ผู้ใหญ่ฉีดครั้งเดียวคนละ 0.5 ซีซี. ที่ต้นแขน เด็กเล็กฉีดที่หน้าขา โดยเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน-9 ปี ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน หลังฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงที่ตกสำรวจ หรือหญิงที่เพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ สามารถแจ้งชื่อเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาลสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยจะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนในระหว่างวันที่ 11 มกราคม – มีนาคม 2553 ในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ขณะนี้ อย.ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนเรียบร้อยแล้ว โดยองค์การเภสัชกรรมได้กระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการฉีด ประกอบด้วยโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ทั้งต่างจังหวัดและกทม.รวม 819 แห่ง และโรงพยาบาลนอกสังกัด ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม ตำรวจ และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 196,975 ขวด บรรจุขวดละ 5 ซี.ซี. ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ครั้งนี้ จะฉีดในโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดภายหลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที เพราะถึงแม้ว่าวัคซีนจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ้างแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการปวด บวม แดง ที่รอยฉีด หรือปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดข้อ มีไข้ต่ำๆ พบได้ประมาณร้อยละ 1-10 ซึ่งอาการจะหายเองภายใน 1-3 วัน ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรงพบได้น้อยมาก ต่ำกว่า 1 ใน 100,000 ได้แก่ ไข้สูง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง สับสน เป็นต้น ทั้งนี้ รายที่มีอาการแพ้วัคซีนรุนแรง มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังฉีด จะมีอาการคันที่ผิวหนัง บวมที่ปาก หน้า ลำคอ หายใจลำบาก ชีพจรเบา ช็อค โดยกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้แก่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ที่แพ้ไข่ หรือสารเคมีอื่นที่อยู่ในวัคซีน รวมทั้งผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้รุนแรง สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะรับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ มีไข้ หรือมีอาการเจ็บป่วย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ หรือจนกว่าจะคุมอาการโรคประจำตัวได้คงที่ ***************************************** 7 มกราคม 2553


   
   


View 16    07/01/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ