รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ปี 2567 “คลื่นลูกใหม่ (S-Curve) สร้างสุขภาพจิตไทยสู่อนาคต” เร่งวิจัยพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ บุคลากร ระบบบริการสุขภาพจิตด้วยดิจิทัล ตอบสนองความต้องการประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมปาฐกถาและมอบรางวัล Mental Health Awards ให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ Dr. Andrea Bruni Regional Advisor (Mental Health) WHO South-East Asia Region 

           วันนี้ (30 กรกฎาคม 2567) ที่ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กทม. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 23 ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “คลื่นลูกใหม่ (S-Curve) สร้างสุขภาพจิตไทยสู่อนาคต” (The New S-Curve of Mental Health) และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Health and Mental Health toward People’s wellbeing" พร้อมมอบรางวัล Mental Health Awards ให้กับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ Dr. Andrea Bruni Regional Advisor (Mental Health) WHO South-East Asia Region 

           นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย ซึ่งในสถานการณ์โลกที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปสู่เทคโนโลยี นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลต่อการปรับตัวและการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันในการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิต โดยเร่งการวิจัยพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ บุคลากรสมรรถนะสูง และระบบบริการด้านสุขภาพจิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหรือคลื่นลูกใหม่ (New S-Curve) ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าของงานสุขภาพจิตในอนาคตได้ อาทิ การยกระดับการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดและมินิธัญญารักษ์ การตรวจรักษาจิตเวชทางไกล การจัดตั้งหน่วยงานบูรณาการดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติด และจัดตั้งกองทุนบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนแบ่งปันทรัพยากร พัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนงานให้บรรลุผลสำเร็จ พัฒนาระบบสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน ส่งผลให้ประชาชนและสังคมไทย มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน มีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข และอยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่า

            นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ปี 2562 ประชากรโลกกว่า 970 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 8 ของโลก มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยปี 2565 การสูญเสียปีสุขภาวะจากกลุ่มโรคด้านสุขภาพจิต คิดเป็นสัดส่วนถึง 13% อีกทั้งการประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเองของประชากรกว่าหนึ่งล้านคน ผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check In ในปี 2566 พบว่า เครียดสูง 10.74% เสี่ยงซึมเศร้า12.63% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 7.59% และถึงแม้แนวโน้มความเสี่ยงด้านต่างๆ จะลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 แต่การจัดการด้านสุขภาพจิตให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี จำเป็นต้องอาศัยฐานแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบสุขภาพจิตดิจิทัลควบคู่การพัฒนาบุคลากร ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงองค์การอนามัยโลก ตลอดจนการศึกษาวิจัยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างบริการด้านสุขภาพจิตที่มีคุณค่า พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมูลค่าสูงต่อไป

           ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 23  ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม -1 สิงหาคม 2567 เพื่อให้บุคลากรด้านสุขภาพ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิต และเครือข่ายสุขภาพจิต ระบบบริการสุขภาพและภาคีสังคม ทั้งในและต่างประเทศ ประมาณ 1,000 คน ได้มีเวทีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ นวัตกรรมใหม่ด้านสุขภาพจิตและจิตเวช รวมทั้งเผยแพร่ผลงานวิชาการ กิจกรรมประกอบด้วย การมอบรางวัล Mental Health Award  2 รางวัล ได้แก่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ  Dr. Andrea Bruni Regional Advisor (Mental Health) WHO South-East Asia Region รางวัลเกียรติยศศ. นพ.ประสพ รัตนากร (ด้านสังคม) 4 รางวัล และรางวัลเกียรติยศ นพ.อุดม ลักษณวิจารณ์ (ด้านชุมชน) 12 รางวัล การปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย การอภิปราย นิทรรศการ และการนำเสนอผลงานทางวิชาการ รูปแบบ Poster Presentation 128 เรื่อง Oral presentation 47 เรื่อง เป็นภาษาอังกฤษ 10 เรื่อง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 

************* 30 กรกฎาคม 2567



   
   


View 0    30/07/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ