โรคหนอนพยาธิเป็นภัยเงียบใกล้ตัว และเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง หากพบการติดโรคหนอนพยาธิในเด็กกลุ่มวัยเรียนจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย พัฒนาการสมองของเด็ก และกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มีสุขนิสัยเสี่ยงต่อการติดโรค อันมีปัจจัยเสริมมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจสถานะของครอบครัว และด้านสิ่งแวดล้อมที่จะสนับสนุนต่อการติดโรคและการแพร่ระบาดของโรคหนอนพยาธิดังกล่าว

        สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงมีพระราชดําริให้มีโครงการควบคุมโรคหนอนพยาธิ โดยกําหนดพื้นที่ในการพัฒนา ทั้งนักเรียนและประชาชนตามแผนพัฒนาเด็ก และเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดําริฯ ฉบับที่ 5 เป็นแผนระยะยาว 10 ปี เพื่อผลักดันการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาเด็กเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารให้มีโอกาสที่ดีขึ้น มีสุขภาพแข็งแรง สามารถดูแลตนเองได้อย่างสมดุล ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานร่วมรับผิดชอบการดําเนินงานควบคุมโรคหนอนพยาธิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเกิดโรคหนอนพยาธิในนักเรียนให้ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข (ร้อยละ 2)

        วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 เวลา 13.29 น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โดยกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ จัดอบรมพัฒนาระบบการดำเนินงานควบคุมโรคหนอนพยาธิในนักเรียนถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดนครพนม โดยนายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการอบรมฯ ณ ห้องประชุมเทพวรมุนี ศูนย์ประชุมสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ผู้เข้าร่วมการอบรมฯ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานควบคุมโรคหนอนพยาธิ ในหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และบุคลากรโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน จำนวน 74 คน โดยหัวข้อการอบรม ประกอบด้วย การชี้แจงแนวทางปฏิบัติงานหนอนพยาธิ ในโครงการตามพระราชดำริฯ และการบรรยายให้ความรอบรู้เรื่องโรคหนอนพยาธิ การใช้งานระบบฐานข้อมูล และการบันทึกข้อมูลการเฝ้าระวังหนอนพยาธิ รวมถึงการบูรณาการโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเข้าสู่การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ปี 2551)

       นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า โรคหนอนพยาธิเป็นโรคที่ป้องกันได้ หากได้รับความร่วมมือกันอย่างจริงจัง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกินอยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะ รับประทานอาหารประเภทปลาน้ำจืดเกล็ดขาว เมนูปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ หรือการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งผลให้กระทบต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย พัฒนาการสมองของเด็กและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน และโรคหนอนพยาธิมีพยาธิหลากหลาย หนึ่งในนั้นที่มีผลกระทบระยะยาว คือ โรคพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งท่อน้ำดี 

        “ผลการดําเนินงานพื้นที่จังหวัดนครพนม ปี 2566 เป้าหมายโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 8 แห่ง 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอบ้านแพง ท่าอุเทน โพนสวรรค์ และนาทม ตรวจคัดกรอง จํานวน 725 ราย พบการติดเชื้อพยาธิ (พยาธิปากขอ) จํานวน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.14 และปี 2567 ตรวจคัดกรอง จำนวน 354 ราย พบการติดเชื้อพยาธิ จำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.13 ดังนั้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคหนอนพยาธิ ต้องบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อเป้าหมายลดการเกิดโรคหนอนพยาธิในนักเรียนให้ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข ร้อยละ 2 ในระดับประเทศ และลดอัตราตายด้วยมะเร็งท่อน้ำดีด้วยแนวคิด “รู้เร็ว รักษาเร็ว ไม่ตายด้วยมะเร็งท่อน้ำดี”

 

Facebook: งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
https://www.facebook.com/share/p/MxFfGdfj9xGWXSW8/?mibextid=qi2Omg
 



   
   


View 365    05/08/2567   ข่าวรอบรั้วภูมิภาค    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม