ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะหญิงที่ถูกข่มขืน ให้พบแพทย์ด่วน อย่าอายแพทย์ เพื่อกินยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมแนะผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว อย่าทำร้ายสังคมและตัวเอง ขอให้พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับคำแนะนำการใช้ชีวิตอย่างคนปกติ แม้จะมีเชื้อเอชไอวีร่วมชีวิตด้วย ส่วนที่อำนาจเจริญ ส่งทีมแพทย์และนักจิตวิทยาเยียวยาผู้เสียหายแล้ว จากกรณีที่มีข่าว มีชายหนุ่มติดเชื้อเอชไอวี และแต่งตัวคล้ายตำรวจ ดักจับจักรยานยนต์ อ้างรถเถื่อน ก่อนฉุดเด็กสาวที่ชอบเที่ยวกลางคืนข่มขืนมาไม่ต่ำกว่า 50 คน เหตุเกิดที่จังหวัดอำนาจเจริญ และที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจากการตรวจร่างกาย ผลการตรวจเลือด พบชายหนุ่มดังกล่าวติดเชื้อเอชไอวีด้วยนั้น เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประชดสังคมและตนเอง ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยได้จัดทำแนวทางปฏิบัติของสถานพยาบาล ในการจัดบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสทุกประเภท เช่นกรณีถูกข่มขืน การสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยกรณีที่ถูกข่มขืน ได้มีแนวทางที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้ถูกข่มขืน การป้องกันการตั้งครรภ์ มีการตรวจเช็คร่างกาย การป้องกันการติดเชื้อจากโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่นกามโรค หนองใน ซิฟิลิส เอชไอวี โรคเริม จึงขอให้ผู้ที่ถูกข่มขืน และเกรงว่าจะติดเชื้อเอชไอวี ให้รีบไปโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อขอคำแนะนำและการรักษา ในส่วนของผู้ที่รู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ก็ไม่ต้องกังวล สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ เพราะขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการให้ยาต้านไวรัสเอดส์อย่างครอบคลุมผู้ติดเชื้อทุกกลุ่ม โดยมีระบบการให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจควบคู่ด้วย เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อดีขึ้น ไม่ป่วยบ่อยเหมือนที่ผ่านมา สุขภาพแข็งแรงสามารถทำงานได้ อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ผู้ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว อย่าประชดสังคม หรือประชดตัวเอง เพราะเป็นผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น ทำให้โรคเอดส์แพร่ระบาดมากขึ้น ในกรณีที่อำนาจเจริญได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่งทีมแพทย์และนักจิตวิทยา เข้าไปเยียวยาแก่ผู้เสียหายแล้ว นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้วและไม่อยากไปรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาล สามารถใช้บริการได้ที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 20,000 คน มีระบบการทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะ และปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 300 แห่งก็ได้ เพราะกลุ่มเหล่านี้จะเข้าใจความรู้สึกของผู้ติดเชื้อด้วยกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามผู้ที่ถูกข่มขืน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี อย่าวิตกกังวล เนื่องจากมียาป้องกันการติดเชื้อในระยะเริ่มแรก ประการสำคัญจะต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยทันที หากพบแพทย์เร็ว จะทำให้การรักษาได้ผลดี อย่าอายแพทย์ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ไปพบแพทย์ ก็ขอให้รีบไปพบแพทย์ ถึงแม้ว่าจะถูกข่มขืนมานานแล้วก็ตาม เพราะแพทย์จะมีแนวทางให้การช่วยเหลือทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างเป็นขั้นตอน ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งสามารถให้คำปรึกษา การตรวจวินิจฉัยเชื้อเอชไอวีและมียาต้านไวรัสเอชไอวีพร้อมช่วยเหลือทุกแห่ง *************** 11 มกราคม 2553


   
   


View 13    11/01/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ