กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง ลดการนำเข้าเทคโนโลยีและวัสดุทางทันตกรรมจากต่างประเทศ พร้อมจัดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ใช้งบประมาณกว่า 130 ล้านบาท ฝังรากฟันเทียมให้ผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียม 10,000 ราย รวม 20,000 ราก โดยใช้ชุดรากฟันเทียมที่พัฒนาโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งถูกกว่าของนอก ประหยัดเงินชาติได้ถึง 2,400 ล้านบาท เช้าวันนี้ (19 มกราคม 2550) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี นายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันลงนาม บันทึกความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทันตกรรม ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางทันตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ นายแพทย์สมยศ กล่าวว่า ตามบันทึกความร่วมมือนี้ ทั้ง 2 กระทรวงจะมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยทางด้านทันตกรรม เพื่อนำไปพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จนถึงระดับเชิงพาณิชย์ และสามารถแข่งขันในเวทีอุตสาหกรรมระดับโลกได้ โดยใช้ห้องปฏิบัติการร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทันตกรรม อาทิ ทันตแพทย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และผู้ชำนาญการ รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถให้กับทันตแพทย์ทั่วไปและทันตแพทย์เฉพาะทาง มีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี และที่สำคัญคือ การจัดทำโครงการรากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งจะมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2549-กันยายน 2552 ใช้งบประมาณรวม 134.5 ล้านบาท โดยมีสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก นายแพทย์สมยศ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยของโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ จะคัดเลือกจากผู้สูงอายุด้อยโอกาส จำนวน 80,000 ราย ที่อยู่ในโครงการฟันเทียมพระราชทาน ของกระทรวงสาธารณสุข แต่มีปัญหาไม่สามารถใส่ฟันเทียมได้ เนื่องจากมีการละลายตัวของสันกระดูกขากรรไกร ต้องใช้วิธีฝังรากฟันเทียมเพื่อเป็นตัวช่วยยึดฟันเทียม โดยมีเป้าหมายทั้งหมด 10,000 ราย รายละ 2 ราก รวม 20,000 ราก แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ช่วง คือ ปี 2550 ทำการสำรวจ คัดเลือกสถานบริการ คัดกรองกลุ่มเป้าหมาย จัดอบรมทันตแพทย์ และดำเนินโครงการนำร่องใน 6 แห่ง ได้แก่ สถาบันทันตกรรม โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง และโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ จากนั้นในปี 2551 และ 2552 จะดำเนินการฝังรากฟันเทียมในกลุ่มเป้าหมายปีละ 5,000 คน ทั้งนี้ การฝังรากฟันเทียม เป็นเทคโนโลยีด้านทันตกรรมขั้นสูง ต้องใช้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้รากฟันเทียมจากต่างประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงถึงรากละ 50,000-120,000 บาท แต่โครงการนี้จะใช้เทคโนโลยีที่เป็นผลงานการพัฒนาของหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ ไทย คือ ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสในสังคม ได้รับการรักษาที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียงบประมาณในการนำเข้ารากฟันเทียมจากต่างประเทศได้ถึง 2,400 ล้านบาทด้วย ด้านดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ใช้งบประมาณกว่า 22 ล้านบาท ร่วมกันวิจัยและพัฒนาชุดโครงการทันตกรรมรากฟันเทียมแบบครบวงจรที่ได้มาตรฐานสากล เริ่มตั้งแต่ปี 2548 และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2550 นี้ โดยศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง ศึกษาด้านเทคโนโลยีในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา ด้านทันตกรรมรากฟันเทียม ส่วนศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ทำการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่ใช้ผลิตรากฟันเทียม ซึ่งชุดทันตกรรมรากฟันเทียมที่พัฒนาขึ้นนี้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล แต่ราคาต่ำกว่าของต่างประเทศ ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยขั้นต่อไปจะพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ให้สามารถส่งออกเพื่อสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศ มกราคม5/2-3 ****************************** 19 มกราคม 2550


   
   


View 7    19/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ