กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนในช่วงฤดูฝนมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) มากขึ้น เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมและพฤติกรรมสุขภาพโดยเฉพาะคนที่มีแผลที่บริเวณเท้า ควรเลี่ยงการเดินลุยน้ำ  ย่ำโคลน กลุ่มเสี่ยงเกิดโรค คือ ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือมีลักษณะงานที่ต้องสัมผัสดินและน้ำอยู่เป็นประจำ สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและมีแนวโน้มเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 

          วันนี้ (15 สิงหาคม 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิสว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังจากระบบการรายงานโรค Digital Disease Surveillance (DDS) กองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยเมลิออยโดสิสทั้งหมด 2,117 ราย (3.24 ต่อประชากรแสนคน) เสียชีวิต 64 ราย (0.10 ต่อประชากรแสนคน) อัตราป่วยตาย ร้อยละ 3.04 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป (7.66 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือ อายุ 55-64 ปี (6.08 ต่อประชากรแสนคน) และอายุ 45-54 ปี (4.40 ต่อประชากรแสนคน) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม และอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   โดย 5 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด และนครพนม โดยกรมควบคุมโรค คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งจะทำให้กลุ่มเสี่ยงมีโอกาสสัมผัสเชื้อจากดินและน้ำมากขึ้น

          โรคเมลิออยโดสิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei เชื้อชนิดนี้มีความทนทาน ต่อสิ่งแวดล้อมมากและมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิ ระหว่าง 15-42 องศาเซลเซียส พบได้ในดิน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติในทุกภาคของประเทศไทย คนสามารถติดเชื้อผ่านทางเยื่อบุผิวหนังหรือบาดแผลจากการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน การดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด หรือการหายใจเอาละอองของเชื้อที่ปนเปื้อนในดินเข้าไป และอาจติดเชื้อจากสัตว์ได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือรับประทานเนื้อหรือนมจากสัตว์ที่เป็นโรค

          นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังจากติดเชื้อเฉลี่ยประมาณ 4-9 วัน เร็วสุด 1 วันหรือบางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน ส่วนใหญ่มักเริ่มจากมีไข้ อาการแสดงขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น หากติดเชื้อที่ผิวหนังจะมีอาการปวด บวม มีแผลเปื่อย   สีขาวเทาหรือเป็นฝีหนอง หากติดเชื้อที่ปอดจะมีอาการปอดอักเสบ คือ มีไข้ ไอ หอบเหนื่อย และอาจพบฝีหนองในปอด ในบางรายอาจพบที่อวัยวะอื่น เช่น ฝีในตับหรือม้าม ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โดยจะมีไข้สูง หายใจลำบาก ความดันเลือดต่ำหรือมีภาวะช็อก และถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งหากประชาชนพบว่า   ตนเองมีความเสี่ยงและมีอาการ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อรับ   การรักษาได้ทันท่วงที

         กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำการป้องกันสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ กลุ่มผู้มีอาชีพเกษตรกรรม ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่มีบาดแผล    1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกง ขายาวหรือชุดลุยน้ำ เมื่อเสร็จภารกิจให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่  2.หากมีบาดแผลบริเวณผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท  3.รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด หากไม่แน่ใจให้ต้มน้ำให้สุกก่อนดื่ม เมื่อมีอาการไข้สูง ร่วมกับมีประวัติการสัมผัสดินและน้ำ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

*********************************************

ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 15 สิงหาคม 2567



   
   


View 0    15/08/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ