สาธารณสุข เตือนประชาชนที่ยังนิยมกินลาบ หลู้หมูดิบ เสี่ยงหูหนวกถาวร หรือเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับหรือสเตปโตค็อกคัส ซูอีส สูงถึงร้อยละ 30 แนะหากจะบริโภค จะต้องปรุงให้สุกก่อนทุกครั้ง ชี้หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบภายใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบให้แพทย์ทราบด้วย พร้อมทั้งให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคทั่วประเทศ ให้ความรู้คำแนะประชาชนในการบริโภคเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคและพยาธิ
ตามที่มีข่าวประชาชนอำเภอกงไกรลาส จังหวัดสุโขทัย 3 ราย เสียชีวิตหลังกินหลู้ดิบหรือลาบเลือด จากตลาดไนท์มารับประทาน และเจ็บป่วยอีก 11 คนเมื่อวานนี้ นั้น
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยว่า ได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่ลงพื้นที่หมู่ 4 และหมู่ 9 ตำบลกกแรด อำเภอกงไกรลาสแล้ว ผลตรวจเบื้องต้นยืนยันว่าผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยติดเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอีส จากการกินเนื้อหมูและเลือดหมูดิบ ซึ่งในปีที่ผ่านมาจังหวัดสุโขทัยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 3 ราย
เนื่องจากใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ รู้สึกห่วงใยประชาชนเรื่องนี้มาก ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เนื่องจากยังนิยมบริโภคลาบ หลู้หมูดิบ ขอให้รณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่ปลอดภัย งดกินลาบ หลู้หมูดิบ หรือหมูกระทะ หมูจุ่มที่ยังไม่สุกอย่างเด็ดขาด ขอเตือนประชาชนให้บริโภคอาหารโดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อ ขอให้ให้ปรุงสุกทุกครั้งก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัยจากโรคต่างๆรวมทั้งพยาธิบางชนิดด้วย
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอีส (Streptococcus Suis) เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการทางสมอง หูหนวก ไม่ได้ยินเสียงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไข้หูดับ เนื่องจากเชื้อจะเข้าไปทำลายประสาทการได้ยิน หลังจากได้รับเชื้อจากการกินหรือสัมผัสเข้าไปประมาณ 1-3 วัน จะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน บางรายไม่รู้สึกตัว ชักกระตุก เป็นอัมพาตได้ บางรายอาจมีเยื่อบุหัวใจ ปอดอักเสบ สายตาพร่ามัว มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 30 หรืออาจหูหนวกถาวรหลังหายป่วย โดยเชื้อดังกล่าวจะพบอยู่ที่บริเวณจมูก คอ หรือต่อมทอนซิลของหมู โดยการฆ่าหมูมักจะแทงตรงคอ เลือดจะไหลผ่านคอหมูและปนเปื้อนเชื้อโรคบริเวณคอหมู โรคนี้ติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1. การกินเนื้อหมู เลือด เครื่องในหมูดิบ 2. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ
นายแพทย์มานิต กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในแถบภาคเหนือที่น่าห่วงขณะนี้ คือการนิยมบริโภคอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมากินดิบๆหรือสุกๆ ดิบๆ เพราะเชื่อว่ารสชาติอร่อยกว่าเนื้อสุก และมีความเชื่อว่าเครื่องปรุงต่างๆ เช่น พริก เกลือ น้ำมะนาว จะทำให้เชื้อโรคและพยาธิที่อยู่ในเนื้อหมูตาย ซึ่งความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นความจริง และพบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การเกิดโรครุนแรงขึ้น เพราะจากรายงานการสอบสวนโรคมักพบในกลุ่มกินลาบ หลู้หมูดิบ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน หากประชาชนที่รับประทานเข้าไปแล้วมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ หลังกินหมูดิบภายใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และต้องแจ้งประวัติการกินหมูดิบให้แพทย์ทราบด้วย สำหรับผู้ชำแหละหรือผู้สัมผัสหมู ต้องสวมถุงมือป้องกันการติดเชื้อทุกครั้ง
************************************* 12 มกราคม 2553
View 12
12/01/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ