วันนี้ (21 สิงหาคม 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรที่กำลังแพร่ระบาดและพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมากในทวีปแอฟริกาอย่างใกล้ชิด ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO)  ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานร เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขที่มีผลกระทบระหว่างประเทศ จึงได้มอบหมายให้ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เร่งดำเนินการตรวจสอบกรณีพบผู้ป่วยฝีดาษวานรสงสัยสายพันธุ์ clade I รายแรกในไทยที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา

          นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกองระบาดวิทยาว่าพบผู้ป่วยสงสัย ฝีดาษวานรสงสัยสายพันธุ์ clade I เป็นเพศชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเดินทางมาถึงประเทศไทย วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น. และในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 มีอาการป่วย มีไข้ เข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งผลตรวจเชื้อโรคฝีดาษวานร สายพันธุ์ clade II ให้ผลเป็นลบ ส่วนสายพันธุ์ clade Ib ให้ผล ไม่ชัดเจน จึงต้องตรวจใหม่ และอยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน แม้ว่าผลการตรวจยังไม่ชัดเจน แต่ประชาชนควรตระหนักถึงอันตรายของโรค และขณะนี้ได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ป่วยในช่วงก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย 43 ราย และขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาสังเกตอาการภายใน 21 วัน หากมีอาการไข้ มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

          โดยมาตรการในการป้องกัน เนื่องจากมี 6 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีการระบาดในขณะนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐยูกันดา สาธารณรัฐรวันดา สาธารณรัฐบุรุนดี สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ อยู่ในพื้นที่เขตติดโรคไข้เหลือง ทางด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค จึงกำหนดให้ลงทะเบียนผ่านระบบ Thai Health Pass และต้องผ่านกระบวนการคัดกรองกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ ซึ่งผู้โดยสารที่เดินทางจาก 6 ประเทศข้างต้น จะได้รับการวัดอุณหภูมิร่างกาย สอบถามอาการ และสังเกตผื่นตามร่างกาย หากมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จะมีการแยกกักผู้เดินทาง ซักประวัติ ตรวจร่างกายเพิ่มเติม พร้อมเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อส่งห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ และส่งผู้ป่วยต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร

          ทั้งนี้ ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกา ควรต้องติดตามว่าประเทศเหล่านั้นมีการระบาดหรือไม่ และควรระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิด หมั่นสังเกตอาการตนเอง ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือเริ่มสังเกตเห็นมีผื่นขึ้นตามร่างกายเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง ควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยรักษาตั้งแต่ต้น

          กรมควบคุมโรค มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โรคฝีดาษวานร รวมถึงโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำอื่นๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ อาจมีโอกาสพบผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่มีอาการสงสัยหรือแพร่โรคได้ จึงขอเน้นย้ำการป้องกันโรคฝีดาษวานร ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด และทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอ 2) หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 3) หากผู้ที่มีอาการสงสัย สามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค

 

********************************

ข้อมูลจาก : กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ/กองโรคเอดส์ฯ/กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 21 สิงหาคม 2567



   
   


View 105    21/08/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ