กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายระบาดวิทยา ประจำปี 2567 โดยสานพลังเครือข่ายระบาดวิทยาทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการพัฒนาการทำงานด้านระบาดวิทยาให้ครอบคลุมในทุก มาใช้ในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค

วันนี้ (26 สิงหาคม 2567) ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สไตล์ลิส คอนเวนชัน จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ประธานในพิธีเปิดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายระบาดวิทยาระดับเขตและระดับจังหวัดทั่วประเทศ ประจำปี 2567 พร้อมด้วย นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา และคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค เพื่อยกระดับการพัฒนาการทำงานด้านระบาดวิทยาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ยกประเด็นการขับเคลื่อนการถ่ายโอนภารกิจหน่วยบริการไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การนำ AI และข้อมูลจากระบบดิจิทัลเพื่อการเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา (Digital Disease Surveillance: DDS) มาใช้ในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค โดยสานพลังเครือข่ายระบาดวิทยาทั่วประเทศ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับเขต ซึ่งการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2567

นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เผชิญกับเหตุการณ์การระบาดสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้าง ทั้งโรคอุบัติใหม่ โรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงอุบัติเหตุ และภัยธรรมชาติ เห็นได้จากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ ณ ขณะนั้นเป็นโรคอุบัติใหม่ ทำให้พบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ด้วยการทำงานอย่างเข้มแข็งของบุคลากรสาธารณสุข และเครือข่ายการทำงานด้านระบาดวิทยาทุกระดับที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้โดยไม่ใช้เวลายืดเยื้อ และทำให้ระบบสาธารณสุขไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

บทเรียนจากการเกิดปัญหาโรค/ภัยสุขภาพที่ผ่านมาชี้ชัดว่าโรคติดต่ออุบัติใหม่และภัยสุขภาพมีโอกาสทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเป็นวงกว้าง ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบสุขภาพของประเทศที่สำคัญ คือ การถ่ายโอนการบริการจัดการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั่นหมายถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานด้านสาธารณสุขของท้องถิ่นในงานระบาดวิทยามากขึ้น ทั้งนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถือเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขที่สำคัญในพื้นที่ที่จะตรวจจับความผิดปกติของเหตุการณ์หรือการระบาดของโรคระยะเริ่มต้น ทำให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพและลดความสูญเสียต่างๆ ได้มาก เพื่อให้เกิดการทำงานประสาน บูรณาการ เชื่อมโยงไร้รอยต่อภายใต้กระบวนการถ่ายโอน รพ.สต. สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับกลไกการประสานความร่วมมือ และพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน ในการรับมือกับโรคและภัยสุขภาพ ทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และเขต

“แนวคิดการกระจายอำนาจโดยการถ่ายโอนหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นโอกาสที่จะช่วยกันพัฒนางานเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค ให้เข้าถึงชุมชน ลดการแพร่ระบาดและการป่วยในชุมชนมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สะท้อนมุมมองการทำงานระบาดวิทยาไว้ว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โรคภัยก็พัฒนาไปเช่นกัน การศึกษาและเข้าใจระบาดวิทยาควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีทันสมัยจะช่วยให้เราวิเคราะห์และรับมือกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือทั้งความท้าทายและโอกาสในการเสริมสร้างระบบสุขภาพของประเทศไทยในอนาคต การประชุมนี้เป็นกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายระบาดวิทยาที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถเครือข่ายงานระบาดวิทยา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจในงานระบาดวิทยาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนาสัมพันธภาพเพื่อความยั่งยืนของเครือข่ายภายใต้บริบทที่มีการเปลี่ยนแปลง

 

ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 26 สิงหาคม 2567



   
   


View 0    26/08/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ