วันนี้ (6 กันยายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือหลายจังหวัดเริ่มลดระดับลง ทำให้ในหลายพื้นที่อาจมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีน้ำขังในภาชนะ วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ หรือมีการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยและขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพหลังน้ำลด ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู โรคเมลิออย และโรคไข้เลือดออก

          โรคไข้ฉี่หนู มักพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังน้ำลด 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเชื้อโรคนี้มักปนเปื้อนมากับน้ำ หากประชาชนเดินลุยน้ำ ย่ำดินโคลน ด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ โดยหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่ม มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด หากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาล่าช้าจะทำให้เกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 2,486 ราย เสียชีวิต 27 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป (18.70%) รองลงมาอายุ 55-59 ปี (10.94%) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร (33.3%)

          โรคเมลิออย พบเชื้อในดินและแหล่งน้ำตามธรรมชาติในทุกภาคของประเทศไทย สามารถติดเชื้อผ่านทางเยื่อบุผิวหนังหรือบาดแผลจากการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน การดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด หรือการหายใจเอาละอองของเชื้อที่ปนเปื้อนในดินเข้าไป และอาจติดเชื้อจากสัตว์ได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือรับประทานเนื้อ หรือนมจากสัตว์ที่เป็นโรค

          ด้านนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีป้องกันทั้งโรคเมลิออย และโรคไข้ฉี่หนูสามารถป้องกันได้ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังจากลุยน้ำ  2.ล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ  3.รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ อาหารที่ค้างมื้อควรอุ่นให้เดือดก่อนนำมารับประทาน  4.ดูแลทำความสะอาดที่พักให้สะอาด สวมถุงมือยางและรองเท้าบู๊ทขณะเก็บกวาด ทิ้งเศษอาหารในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารให้หนูเข้ามาในบ้าน  5.หากมีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อที่น่อง หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง หรือดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะหนู วัว ควาย หมู สุนัข และแพะ ห้ามซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยงให้ทราบ เพื่อพิจารณาการรักษาได้อย่างถูกต้อง

          โรคไข้เลือดออก ยังคงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง พบผู้ติดเชื้อมากในช่วงหน้าฝน และโดยเฉพาะหลังน้ำลด ซึ่งอาจมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ขอให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย            ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง สะอาด ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง หากประชาชนมีอาการไข้สูงร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขาเป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก และแอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังติดตามและประเมินสถานการณ์โรค และภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ และสนับสนุนทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่กรณีเกิดการระบาดของโรค รวมถึงเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*********************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/กองระบาดวิทยา/กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 6 กันยายน 2567



   
   


View 0    06/09/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ