ทีม SEhRT กรมอนามัย ร่วมกับพื้นที่เฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยง สนับสนุนการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมในศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดเชียงราย ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพแก่ผู้อพยพ

           นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงในจังหวัดเชียงราย ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถอาศัยอยู่ภายในบ้านได้ หน่วยงานในพื้นที่จึงจัดตั้งศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาทุกข์และให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ขณะนี้ จังหวัดเชียงรายมีศูนย์อพยพจำนวน 19 แห่ง คือ อำเภอเมือง 9 แห่ง อำเภอแม่สาย 7 แห่ง อำเภอแม่จัน 1 แห่ง อำเภอแม่ฟ้าหลวง 1 แห่งและอำเภอเวียงชัย 1 แห่ง  เนื่องจากมีประชาชนเข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพเป็นจำนวนมาก ทีม SEhRT กรมอนามัย ทั้งส่วนกลาง และศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ จึงลงพื้นที่ร่วมกับทีมจังหวัดในศูนย์อพยพ 5 แห่ง ของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยดูแล จัดการศูนย์อพยพ ประเมินความเสี่ยง เฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ การจัดการสุขาภิบาลและสุขอนามัย ได้แก่ ส้วมและสิ่งปฏิกูล ให้สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย การจัดการขยะประสานหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นให้จัดเตรียมถังขยะแบบแยกประเกทให้เพียงพอ พื้นที่พักอาศัยต้องไม่แออัด มีการจัดแบ่งโซนสำหรับกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และกำหนดพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ ตลอดจนให้ความรู้แก่ผู้อพยพในการดูแลสุขอนามัย การป้องกันความเสี่ยงสุขภาพเมื่อต้องอาศัยในศูนย์อพยพ พร้อมสนับสนุนชุด V-Clean ชุด Sanitation toolkit ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ ชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำสำหรับใช้ในศูนย์อพยพ  และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชน

           “จากการประเมินความเสี่ยงภายในศูนย์อพยพ เบื้องต้นบางพื้นที่ยังคงพบปัญหาด้านการสุขาภิบาลที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น มีการนำเสื้อผ้ามาบริจาคจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงการติดโรคที่ปนมาในเสื้อผ้ามีการประกอบปรุงอาหารที่พื้น โดยไม่ถูกสุขลักษณะ มีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ จึงต้องมีการจัดการด้านการสุขาภิบาลที่ถูกต้อง เน้นย้ำให้มีการจัดการเสื้อผ้าที่มาบริจาคให้สะอาด โดยอาจทำการซักและใส่น้ำยาฆ่าเชื้อผึ่งให้แห้งก่อนนำมาใช้ สำหรับการปรุงประกอบอาหารภายในศูนย์อพยพ ให้มีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร โดยให้ประกอบปรุงอาหารในพื้นที่สูงจากพื้น เกิน 60 เซนติเมตร และมีการปรุงอาหารปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ รวมทั้งมีการตรวจประเมินคลอรีนในน้ำใช้ เพื่อป้องกันโรคติดต่อ โรคระบาดต่าง ๆ ได้ ตลอดจนมีการจัดการขยะมูลฝอย โดยต้องใช้ถุงดำใส่ลงไปในถังขยะก่อนทุกครั้ง และให้ท้องถิ่นมาเก็บไปทุกวัน ป้องกันสัตว์แมลงนำโรคมาคุ้ยเขี่ยขยะ” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว

***

กรมอนามัย / 15 กันยายน 2567



   
   


View 0    15/09/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย