กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังลูกหลานอย่าให้กินเมล็ดละหุ่งแดงหรือเมล็ดฝิ่นต้น เนื่องจากมีสารพิษที่มีชื่อว่า แคลเซียม อ๊อกซาเลท ทำให้คลื่นไส้อาเจียน ปากบวมพอง พูดไม่ชัด ถึงขั้นเสียชีวิต ในปีนี้พบเด็กนักเรียนที่จ.น่านได้รับพิษแล้ว 13 ราย แนะวิธีช่วยเหลือกรณีที่อาการไม่รุนแรงมาก ผู้ได้รับพิษรู้สึกตัว ควรให้ดื่มนม เพื่อลดการดูดซึมสารพิษก่อนนำส่งโรงพยาบาล นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กๆ ได้รับพิษจากกินเมล็ดพืชอยู่เนืองๆ ในปี 2552 สำนักระบาดวิทยา รายงานว่ามีเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในอำเภอปัว จังหวัดน่าน อายุ 6-8 ปี ได้รับพิษจากการการกินเมล็ดละหุ่งแดงหรือเมล็ดฝิ่นต้น ซึ่งปลูกในโรงเรียน จากการสอบสวนโรคพบว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนพ.ศ. 2552 เด็กนักเรียนดังกล่าวเก็บเมล็ดละหุ่งแดงมากินทั้งหมด 16 คน คนละ 1-5 เมล็ด ในช่วงพักกลางวัน หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง เริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง 13 คน ครูได้นำส่งรักษาที่โรงพยาบาลปัว หลังรักษาอาการดีขึ้น แพทย์ให้กลับบ้าน 4 ราย ที่เหลือ 9 ราย รับตัวนอนรักษาในโรงพยาบาล ไม่มีเสียชีวิต นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า ละหุ่งแดงหรือฝิ่นต้น (CORAL BUSH,CORAL PLANT) ที่นักเรียนกินครั้งนี้ มีชื่อทั่วไปว่ามะละกอฝรั่ง เป็นไม้พุ่มลำต้นสูงประมาณ 2-4 เมตร จัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ลำต้นคล้ายต้นมะละกอ แต่ขนาดเล็กกว่า ใบมีลักษณะเป็นแฉกคล้ายใบมะละกอ กลีบดอกสีแดง ออกเป็นช่อแบนแน่นติดกัน ผลเป็นรูปทรงกลม มีพู 3 พู ผิวเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่มีสีออกเหลือง ชาวบ้านตามชนบท มักปลูกไว้เป็นยาสมุนไพร ส่วนที่กินได้คือเปลือกของลำต้น มีรสฝาด ใช้ปรุงเป็นยาแก้อาเจียน แก้ท้องเสีย แก้ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามข้อ ในส่วนของเมล็ดนั้นเป็นอันตราย กินไม่ได้ เนื่องจากในเมล็ดมีสารพิษชื่อแคลเซียม อ๊อกซาเลท (Calcium Oxalate) ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน คัน ปวดแสบปวดร้อน ปากบวมพอง น้ำลายไหล ลิ้นเคลื่อนไหวลำบาก กลืนอาหารยาก พูดไม่ชัด หากกินในปริมาณมากอาจเสียชีวิตได้ ในการป้องกันปัญหานี้ หากโรงเรียนต่างๆ จะปลูกไว้เพื่อให้เด็กนักเรียนศึกษาและรู้จักพืชพรรณสมุนไพร นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรเพิ่มการติดป้ายถาวรที่ต้นสมุนไพร เพื่อให้ข้อมูลสรรพคุณสมุนไพร ส่วนที่กินได้ และส่วนที่เป็นอันตราย เพื่อให้นักเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย ก็จะช่วยป้องกันอันตรายได้ นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า ในการช่วยเหลือผู้ได้รับพิษจากเมล็ดละหุ่งแดง หากอาการไม่รุนแรง ผู้ได้รับพิษรู้สึกตัว ในเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล ควรให้ผู้ได้รับพิษดื่มนม เพื่อช่วยลดการดูดซึมพิษในกระเพาะอาหาร แต่หากอาการรุนแรง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อล้างท้องทันที ******************************** 23 มกราคม 2553


   
   


View 13    23/01/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ