ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 45 View
- อ่านต่อ
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เผยน้ำป่าหลาก "เลย" ระดับน้ำลดลง กำชับ "เชียงราย" เฝ้าระวังแม่น้ำกกล้นตลิ่งและท่วมขังถึง 9 ตุลาคมนี้ ห่วงไทยยังเชิญฝนหนักถึงหนักมากหลายจังหวัดทั่วทุกภาค กำชับสื่อสารวิธีป้องกัน/ช่วยเหลือเมื่อสัตว์มีพิษกัดต่อย หลังพบน้ำท่วมปีนี้ มีผู้ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยแล้ว 5 ราย ใน 2 จังหวัด
วันนี้ (3 ตุลาคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 17/2567 ว่า ภาพรวมยังมีสถานการณ์ใน 16 จังหวัดเท่าเดิม โดยในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่า จ.เลย มีน้ำป่าไหลหลากจากแม่น้ำฮวย ส่งผลกระทบใน 4 อำเภอ 7 ตำบล 25 หมู่บ้าน ขณะนี้ระดับน้ำลดลงและท่วมขังบางพื้นที่ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบ 1 แห่ง คือ รพ.สต.ตากแดด อ.วังสะพุง อยู่ระหว่างรอการรายงานเพิ่มเติมจากพื้นที่ ขณะที่ จ.เชียงราย มีฝนตกหนักช่วง 05.30 น. ทำให้มีน้ำท่วมขังใน 2 อำเภอ คือ อ.เมือง ระดับน้ำลดลงแล้ว และ อ.แม่สาย ระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริเวณตลาดสายลมจอยมีน้ำท่วมขังซ้ำ ได้อพยพชาวบ้านไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว และยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดไปพร้อมกับการฟื้นฟูเมือง และให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังจากแม่น้ำกก ตั้งแต่วันที่ 2-9 ตุลาคม 2567
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า สำหรับผู้บาดเจ็บพบเพิ่มขึ้น 97 ราย สะสม 2,313 ราย เสียชีวิตสะสมเท่าเดิม 54 ราย สถานพยาบาลได้รับผลกระทบสะสม 89 แห่ง ปิดให้บริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 7,111 ราย สะสม 203,081 ราย ประเมินสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 377 ราย สะสม 40,867 ราย ในจำนวนนี้ส่งพบแพทย์รวม 237 ราย ทั้งหมดได้รับการดูแลติดตามอาการเป็นระยะจนกว่าจะเข้าสูภาวะปกติ ส่วนกลุ่มเปราะบางดูแลเพิ่มขึ้น 223 ราย สะสม 30,785 ราย ทั้งนี้ ช่วงอุทกภัยปี 2567 พบการบาดเจ็บจากการถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย 5 รายได้แก่ เชียงราย 1 ราย และลำปาง 4 ราย โดยถูกแมงป่องต่อย 2 ราย แมลงมีพิษกัดต่อย ตะขาบกัด และงูกัด อย่างละ 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งทรัพยากรที่จำเป็นในการดูแลการบาดเจ็บจากสัตว์มีพิษ อาทิ น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ล้างแผล เบตาดีน เป็นต้น ยังมีเพียงพอ
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีอากาศแปรปรวนและจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายจังหวัดทั่วทุกภาค ได้กำชับให้ทุกจังหวัดยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งสื่อสารวิธีป้องกันการบาดเจ็บจากสัตว์มีพิษในช่วงฤดูฝน ทั้งงู ตะขาบ แมงป่อง กิ้งกือ แมลงก้นกระดก คางคก และปลิง โดย 1.สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง 2.นอนบนที่นอนหรือเตียงที่สูงเหนือพื้นดินและใช้มุ้งกาง 3.ไม่เดินในที่รก 4.ตรวจสอบจุดเสี่ยงและสังเกตตามมุมอับของบ้านเป็นประจำ 5.ทำความสะอาดบ้านเรือน 6.ถางหญ้าและตัดแต่งต้นไม้ให้โล่ง และ 7.จัดให้บริเวณทางเดินมีแสงสว่างเพียงพอ และใช้หลัก 4 จ. ช่วยเหลือให้ปลอดภัยเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย คือ จดจำลักษณะสัตว์ จัดการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด จำกัดบริเวณที่ถูกกัด ไม่เกา ไม่ถู และจำกัดการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด หากมีอาการรุนแรงให้รีบแจ้ง 1669 นำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
*************************************** 3 ตุลาคม 2567