สาธารณสุข เตรียมขยายฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้หญิงตั้งครรภ์ เพิ่มในโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ขณะนี้มีสมัครขอเข้าร่วมอีก 43 แห่ง จากเดิมมี 212 แห่ง คาดจะพิจารณาให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ สรุปผลฉีดวัคซีนขณะนี้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทยอยฉีดเพิ่มขึ้น เพราะมั่นใจความปลอดภัยมากขึ้น วันนี้ (27 มกราคม 2553) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในโรงพยาบาลเอกชนว่า มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้ความสนใจมาร่วมฉีดวัคซีนจำนวนมาก ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนสมัครใจเข้าร่วมในการฉีดวัคซีน 212 แห่ง เป็นโรงพยาบาลในเขตกทม. 53 แห่ง และมีอีกประมาณ 43 แห่ง แสดงความจำนงต้องการร่วมให้บริการฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ โดยโรงพยาบาลเอกชนที่จะเข้าร่วมโครงการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือ ต้องไม่คิดค่าวัคซีน เนื่องจากเป็นการสนับสนุนของรัฐบาล และขอความร่วมมือไม่ให้คิดค่าบริการฉีดวัคซีน ค่าเข็มฉีดยา และกระบอกฉีดยา กับหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากท้องในโรงพยาบาล ส่วนค่าบริการอื่นๆ เช่น ค่ายาบำรุงเลือด ให้คิดเงินได้ตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ขอวัคซีนเพิ่มเข้ามาอีก 5,000 โด๊ส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จ่ายวัคซีนให้โรงพยาบาลเอกชนไปแล้ว 3 หมื่นโด๊ส หากโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการฯอีก 43 แห่ง ก็จะมีโรงพยาบาลเอกชนชนทั้งหมดร่วมโครงการทั่วประเทศ 255 แห่ง รวมจะได้รับวัคซีนสำหรับให้บริการทั้งหมดจำนวน 5 หมื่นโด๊ส แต่ละแห่งให้รายงานการฉีดให้กรมควบคุมโรคทุกเดือน ขณะนี้ทั่วประเทศ มีรายงานการใช้วัคซีนเข้ามา 74 จังหวัดรวม 52,398 ราย แนวโน้มการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ประชาชนมีความตื่นตัว เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ฉีดวัคซีนเป็นตัวอย่างทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ส่วนเรื่องการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นยาที่ใช้กินและยาพ่นนั้น ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหนักไม่สามารถรับยาได้ หรือระบบทางเดินอาหารมีปัญหาดูดซึมยาไม่ได้ ก็จะใช้ยาพ่นแทน แต่บางรายก็ใช้ยาพ่นไม่ได้เนื่องจากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ยังมีวิธีการใช้ยานี้คือการฉีดเข้าทางเส้นเลือด ซึ่งขณะนี้หลายประเทศกำลังพัฒนายาฉีด ส่วนประเทศไทยเรากำลังติดตามสถานการณ์ในเรื่องของยาฉีดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยานี้อยู่ในขั้นตอนของการวิจัย ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในหลายประเทศ ตามข่าวมีประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ขณะนี้กำลังจะติดต่อและดำเนินการสั่งเข้ามาเพื่อฉีดให้กับประชาชนที่มีอาการหนัก ส่วนเรื่องของประสิทธิภาพของยาใกล้เคียงกับยาตัวเดิม คือโอเซลทามีเวียร์ แต่เนื่องจากประสบการณ์การใช้มีน้อยเพราะเป็นยาใหม่ ก็คงจะต้องติดตามอาการและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดขณะที่ใช้ยาด้วย **************************************** 27 มกราคม 2553


   
   


View 10    27/01/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ