วันนี้ (27 มกราคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าผลการตรวจน้ำหมักชีวภาพ น้ำมหาบำบัดและน้ำเจียรนัยเพชร ผลิตภัณฑ์ป้าเช็ง ว่า ได้รับรายงานจากนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า น้ำหมักชีวภาพป้าเช็งที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ จากผลการตรวจสอบน้ำมหาบำบัด ชนิดรับประทาน ราคาขวดละ 1,000 บาท โดยเกณฑ์มาตรฐานของกรณียาสมุนไพร 1.จะต้องไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน และไม่มีแบคทีเรียบางชนิดปนเปื้อนอย่างเด็ดขาด ถือเป็นเกณฑ์ที่สำคัญ แต่ผลการวิเคราะห์พบว่า 1.มีค่าความเป็นกรดสูงมาก 2. ไม่พบตัวยา ทั้งแผนปัจจุบันและตัวยาสมุนไพรที่มีผลต่อการรักษา และ 3. พบแบคทีเรียที่เป็นอันตรายปนเปื้อนอยู่ ได้แก่ คลอสทริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringens) ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้หากรับประทานเข้าไป จะส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย คล้ายอาหารเป็นพิษภายใน 48 ชั่วโมง หากปนเปื้อนในบาดแผลอาจทำให้แผลเน่าได้ ฉะนั้น น้ำมหาบำบัดถือว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ห้ามปนเปื้อนในยาเด็ดขาด
สำหรับกรณียาหยอดตา โดยมาตรฐานจะต้องมีหลักเกณฑ์คือ 1.ปราศจากเชื้อโรค แบคทีเรีย และเชื้อรา 2.จะต้องมีค่าความเป็นกรดด่างหรือค่าพี เอช (pH : Potential of Hydrogen ion) ในปริมาณที่เหมาะสมคืออยู่ระหว่าง 5.5-7.6 และ3.จะต้องมีตัวยาที่มีประสิทธิภาพต่อการรักษาและไม่เป็นอันตราย สำหรับน้ำเจียรนัยเพชร ที่ใช้หยอดตา ราคาขวดละ 100 บาทนั้น ผลการวิเคราะห์พบว่า 1.มีค่าความเป็นกรดสูงเกินค่ามาตรฐานที่จะใช้หยอดตาที่อนุญาตตามกฎหมาย พบค่าพีเอช 3.15 ซึ่งเป็นกรดสูงกว่ามาตรฐาน 2.ไม่พบตัวยาที่มีผลต่อการรักษา ทั้งตัวยาแผนปัจจุบันและตัวยาสมุนไพร 3.พบเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด ได้แก่ คลอสทริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringens) และบาซิลลัส พูมิลุส (Bacillus pumilus) และ4.พบเชื้อราปนเปื้อน ฉะนั้นหากนำไปหยอดตา ผู้เชี่ยวชาญรายงานว่าจะเหมือนนำกรดหรือน้ำส้มสายชูไปหยอดตา และมีเชื้อโรคและเชื้อราปนเปื้อนอยู่ด้วย อาจมีผลกระทบต่อกระจกตา ซึ่งหากมีแผลอยู่แล้วอาจเกิดการติดเชื้อตามมา และหากติดเชื้อรุนแรงอาจถึงขั้นตาบอดได้
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ขั้นตอนจากนี้ไป อย. จะส่งผลการตรวจสอบที่ได้รับจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยข้อหาที่กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งไว้ เป็นข้อหาที่เกี่ยวข้องกับ พระราชบัญญัติ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติยา 1.การผลิตและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 3.คือการโฆษณาเกินจริง ส่วนข้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติประกอบโรคศิลปะ มี 2 ข้อหา คือ 1. ประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้รับอนุญาต และ2. จัดตั้งสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอย. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป
สิ่งที่อยากเรียนเพิ่มเติมกับประชาชนคือ จะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา ไม่เฉพาะกรณีนี้ แต่ในทุกกรณีของการเสพโฆษณาสินค้าที่จำหน่ายไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามอย่างมีวิจารณญาณ ไม่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อง่ายๆ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ ในอำนาจหน้าที่ มุ่งเน้นการให้ความรู้ข้อเท็จจริงแก่ผู้บริโภคและประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายในการดูแลผู้บริโภคให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและได้รับความเป็นธรรม ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการที่ไม่สุจริต กรณีป้าเช็งคิดว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักมากขึ้น ในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคสินค้าใดๆ ก็ตาม
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ข้อสรุปผลการวิเคราะห์ชัดเจน จะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบผล ว่าน้ำหมักชีวภาพป้าเช็ง ไม่มีสรรพคุณทางยา และยังมีแบคทีเรีย เชื้อราปนเปื้อน มีค่าความเป็นกรดสูง โดยหลักทางการแพทย์จึงไม่น่าจะมีผลทางการรักษา ในทางตรงกันข้ามอาจทำให้เกิดโรค มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร มีอันตรายอีกด้วย และได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีเฝ้าระวัง ในขอบเขตรับผิดชอบว่ายังมีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยา และพ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องดำเนินการซ้ำ ถือเป็นนโยบายที่ต้องปฏิบัติชัดเจน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการกระทำผิดซ้ำหรือไม่ ส่วนกรณีมีชาวบ้านที่จังหวัดพิษณุโลกทำน้ำหมักนั้น หากไปใช้ในการทำปุ๋ยก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่หากไปใช้ในทางรักษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะต้องเฝ้าระวังและทำความเข้าใจชี้แจงประชาชนว่า ไม่มีสรรพคุณทางยา
สำหรับประชาชนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ป้าเช็งไปใช้แล้วเกิดปัญหา กระทรวงสาธารณสุข ยินดีช่วยดูแลให้และในส่วนตำรวจได้รับข้อมูลจากผู้บังคับการว่า ถ้ามีผู้ร้องเรียนเกินกว่า 10 รายขึ้นไปจะพิจารณาว่าจะดำเนินข้อหาเพิ่มเติมเช่นฉ้อโกงประชาชน ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของตำรวจ
นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กรณีน้ำหมักป้าเช็งทราบว่าทำมานาน อย.ได้ติดตามข่าวการโฆษณาทางเคเบิลทีวีและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเริ่มติดตลาดมาก ๆ ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งอย.ได้รับรายงานมีผู้ร้องเรียนเข้ามา และรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อทราบว่ามียาหยอดตาด้วย ก็ได้เร่งดำเนินการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยธุรกิจของป้าเช็งที่ทำมาหลายปีเป็นการทำน้ำหมักชีวภาพ มีถังหมักขนาด 200 ลิตรรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5-6 ร้อยใบ การโฆษณาเป็นน้ำหมักชีวภาพที่ไม่ได้ใช้ในการรักษา ส่วนที่ใช้ในการรักษาจริง ๆ ทางกองยาได้เข้าไปตรวจสอบและเบื้องต้นได้สั่งระงับการโฆษณา จำหน่าย แจกจ่ายทั้งหมดแล้ว
**************************** 27 มกราคม 2553
View 13
27/01/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ