ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 14 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผลักดัน 7 นโยบายสำคัญ สร้างมูลค่าจากจุดแข็งด้านการแพทย์ เพื่อพลิกโฉมระบบสุขภาพไทย สู่อนาคตทางสุขภาพที่ดีของทุกคน ภายใต้เป้าหมาย “ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง”
วันนี้ (20 ตุลาคม 2567) ที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กทม. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสภานายกพิเศษ แพทยสภา เข้าร่วมการประชุมพร้อมรับข้อเสนอแนะและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย” ในการประชุมวิชาการสถาบันมหิตลาธิเบศร-ปธพ.X-ปนพ.1 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นประธานเปิดงาน และมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและอุปนายกแพทยสภา ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พลอากาศเอก นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กรรมการแพทยสภา ตลอดจนนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์ รุ่นที่ 1 นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นพิเศษ 1 และทุกรุ่น เข้าร่วม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน มีความท้าทายสูง กระทรวงสาธารณสุขจะพลิกโฉมระบบสุขภาพ โดยสร้างมูลค่าจากจุดแข็งด้านการแพทย์ของไทย เพื่อสร้างอนาคตทางสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน ผ่าน 7 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1.ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ เชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพ พัฒนาระบบบริการด้วยเทคโนโลยี เทเลเมดิซีน และปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ 2.เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด เน้นพัฒนาระบบบริการให้คำปรึกษา ยกระดับมินิธัญญารักษ์ และทีมชุมชนล้อมรักษ์ ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมติดตามผู้ป่วยหลังการบำบัดรักษา 3.คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ มุ่งเน้นจัดการพฤติกรรมสุขภาพ ลดจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่ป้องกันได้ ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ผลักดันแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิต และสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม โรงเรียนเบาหวานวิทยา สานต่อ การฉีดวัคซีน HPV คัดกรองป้องกันมะเร็งครบวงจร และปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการควบคุม ดูแล ส่งเสริมสุขภาพ 4.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน ผลักดัน พ.ร.บ. อสม. และพัฒนาศักยภาพในการสร้างระบบสุขภาพเชิงรุก ส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้สามารถดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว ชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วม
5.จัดระบบบริการสุขภาพเพื่อกลุ่มเปราะบางและพื้นที่พิเศษ เพิ่มศักยภาพระบบบริการสุขภาพ ทั้งศูนย์การเรียนรู้สุขภาพชายแดน โรงพยาบาลชายแดน สถานชีวาภิบาล กุฏิชีวาภิบาล ตลอดจนส่งเสริมการผลิตและจ้างงานผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุในชุมชน 6.เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพ ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย สนับสนุนการยกระดับภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย และผลักดันสู่ตลาดโลก ปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาต เพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจและบริการ พร้อมส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี/นวัตกรรมสุขภาพ และ 7.บริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุข สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อพัฒนาด้านสาธารณสุข บริหารจัดการกองทุนและงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพิ่มการผลิตแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข สร้างความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับบุคลากร ดูแลด้านสวัสดิการ แก้ปัญหาหนี้สิน รวมถึงพัฒนากฎหมาย เช่น พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข
“ทั้งหมดนี้ เป็นการพลิกโฉมอนาคตระบบสาธารณสุข นำไปสู่ก้าวต่อไปของประเทศ ภายใต้เป้าหมาย “ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง” ให้ประชาชนได้รับบริการที่่ดีที่สุด และสร้างอนาคต ที่่มั่่นคงให้กับระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน” นายสมศักดิ์กล่าว
****************************************************** 20 ตุลาคม 2567