กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอันตราย 5 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบ/แตก และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบในปี 2551 มีคนไทยป่วยสะสมกว่า 2 ล้านคน ป่วยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยนาทีละ 1 คน ชี้คนอายุต่ำกว่า 40 ปีแนวโน้มป่วยมากขึ้น เร่งให้ทุกจังหวัดสำรวจสุขภาพประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปให้ครบทุกคน เพื่อวางแผนลดผู้ป่วยรายใหม่ และป้องกันโรคแทรกซ้อนในรายที่ป่วยแล้ว นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักระบาดวิทยา ติดตามเฝ้าระวังปัญหาการเจ็บป่วยของคนไทยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเรื้อรังระบบทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรู้ขนาดปัญหาและความรุนแรง โดยเก็บข้อมูลในโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ ผลการเฝ้าระวังตลอดปี 2551 พบว่า มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 5 โรคที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 44 จังหวัดรวมทั้งสิ้น 2,179,504 ราย โดยเป็นผู้ป่วยเบาหวาน 645,620 ราย ความดันโลหิตสูง 1,145,557 ราย โรคหัวใจขาดเลือด 148,206 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 107,709 ราย และโรคเรื้อรังทางเดินหายใจ 32,412 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยรายใหม่ เมื่อเปรียบอัตราป่วยจากทั้ง 5 โรคดังกล่าวต่อประชากรทุก 1 แสนคน พบ 10 จังหวัดแรกที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และลำปาง ซึ่งจากผู้ป่วยทั้งหมดนี้ เป็นผู้ที่เริ่มป่วยในปี 2551 จำนวน 718,297 ราย เฉลี่ยเดือนละเกือบ 60,000 ราย หรือป่วยเพิ่มขึ้นนาทีละ 1 คน นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้สูงอายุทั้งหญิงและชาย ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 56 ของผู้ป่วยทั้งหมด ผู้หญิงป่วยเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชายเกือบ 2 เท่า โดยเฉพาะคนกลุ่มวัยทำงานอายุน้อยกว่า 40 ปี มีแนวโน้มป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น ในการแก้ไขปัญหา กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด สำรวจสุขภาพประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปให้ครบทุกคน เพื่อวางแผนดูแลสุขภาพ ลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ส่วนในรายที่ป่วยแล้ว จะต้องมีการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งจะทำให้เกิดความพิการ หรือเสียชีวิต ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า หากป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้ว สิ่งที่ประชาชนต้องดูแลเป็นพิเศษ มี 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ อาหาร การออกกำลังกาย และกินยาเพื่อควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง หากพึ่งยาอย่างเดียวแต่ไม่ปรับพฤติกรรมการกินหรือออกกำลังกาย ก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ในปี 2551 พบผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอาการแทรกซ้อนทั้งหมด 224,506 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยโรคแทรกซ้อนที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยเบาหวาน ประมาณร้อยละ 30 เกิดที่หลอดเลือดแดง ไตวาย โรคแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุดร้อยละ 50 คือโรคหัวใจและไตวาย ส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง และโรคเรื้อรังทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดคือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง และปอดอุดกั้นเรื้อรัง ************************************* 31 มกราคม 2553


   
   


View 12    31/01/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ