กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบเกือบ 122 ล้านบาท จัดโครงการช่วยเหลือผู้พิการไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุ 80 พรรษา โดยในปีนี้ จัดบริการฝังประสาทหูเทียมช่วยคนหูหนวก 81 ราย และมอบเครื่องช่วยฟังให้คนหูตึงอีก 8,100 เครื่อง วันนี้ (22 มกราคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานปล่อยคาราวานรถของคนพิการ ในโครงการ “คนพิการไทยร่วมใจเที่ยวงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ” จัดโดยสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เพื่อให้คนพิการทุกประเภท รวมทั้งผู้ปกครอง รวมกว่า 250 คน ได้มีโอกาสผ่อนคลายความเครียดและมีโอกาสใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดรวมกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ พัฒนางานบริการรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในโรงพยาบาลเพื่อคนพิการโดยเฉพาะ เช่นเพิ่มปุ่มอักษรเบลล์ในลิฟต์ การทำทางลาดขึ้นอาคารบริการ และแสดงป้ายสัญลักษณ์จุดอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการอย่างชัดเจน ให้เป็นช่องทางที่ผู้พิการสามารถใช้บริการสะดวกยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเหมาจ่ายรายหัวรายละ 4 บาท รวมเป็นเงินเกือบ 184 ล้านบาท ทำให้สามารถกระจายงบประมาณเพื่อบริการคนพิการทุกประเภทได้ครอบคลุมทุกจังหวัด นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า ในปี 2550 ซึ่งเป็นมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการเพื่อคนพิการโดยเฉพาะ 2 โครงการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ใช้งบประมาณ 122 ล้านบาท โดยมอบให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านนี้ดำเนินการ โครงการแรกได้แก่ โครงการฝังประสาทหูเทียมให้ผู้พิการหูหนวก ตั้งเป้าผ่าตัด 81 ราย โดยทำผ่าตัดที่โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อฝังประสาทหูเทียมลงในสมอง ซึ่งเป็นการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง มีค่าใช้จ่ายสูงถึงรายละ 1 ล้านบาท จะช่วยให้คนหูหนวกสามารถได้ยินเสียงได้ และมอบเครื่องช่วยฟังให้ผู้พิการหูตึงรวมทั้งผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน จำนวน 8,100 เครื่อง ราคาเครื่องละ 5,000 บาท ซึ่งจะช่วยผู้ที่มีปัญหาเหล้านี้สามารถได้ยิน เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร การฟังและพูดคุยได้ดียิ่งขึ้น โครงการที่ 2 ได้แก่ โครงการจัดหน่วยบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบเบ็ดเสร็จสานต่อจากปี 2549 ดำเนินการใน 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครสวรรค์ สุรินทร์ และชุมพร โดยบริการดังกล่าวจะนำรถผลิตแขน-ขาเทียมเคลื่อนที่ ออกให้บริการทำแขนขาเทียมและซ่อมแซมแขน-ขาเทียมที่ชำรุด พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการทุกประเภท การบริการดูแลสุขภาพช่องปาก ตรวจวัดสายตาและการได้ยิน บริการฟรีทั้งหมด เพื่อให้ผู้พิการในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงบริการอย่างสะดวก โดยผลการดำเนินงานใน 5 จังหวัดในปี 2549 ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ หนองคาย พะเยา นครราชสีมา และพังงา มีผู้พิการได้รับบริการไปแล้วกว่า 3,000 คน ทั้งนี้ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด เมื่อพ.ศ. 2544 พบว่า ประเทศไทยมีผู้พิการจำนวน 1.1 ล้านคนหรือเกือบร้อยละ 2 ของประชากรประเทศ อย่างไรก็ตามมีคนพิการจำนวน 568,927 คน หรือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2537 ถึงมิถุนายน 2549 ซึ่งกว่าครึ่งพิการแขนขา รองลงมาคือหูหนวก หูตึงร้อยละ 14 ปัญญาอ่อนร้อยละ 12 ตาบอดร้อยละ 10 จึงต้องเร่งค้นหาผู้พิการที่เหลือ ซึ่งมักจะอยู่ในชนบท ให้ได้รับบริการอย่างครอบคลุมโดยเร็ว เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มกราคม5/7 ************ 22 มกราคม 2550


   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ