วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ ประธานคณะกรรมการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าผลการตรวจสอบกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นประเด็นปรากฏในสื่อมวลชนว่า พบปัญหาภายหลังได้รับการฉีดวัคซีน นายจุรินทร์กล่าวว่า ในวันนี้ คณะกรรมการฯชุดแพทย์หญิงสุจิตรา ได้ข้อสรุปว่าทั้ง 6 รายที่เป็นข่าวนั้นไม่น่าจะเกิดจากการฉีดวัคซีน โดยรายที่จังหวัดสกลนคร เด็กเสียชีวิต แม่ปลอดภัย ตรวจสอบพบว่าแม่มีอาการครรภ์เป็นพิษ รายที่จังหวัดพัทลุงและที่จังหวัดมหาสารคาม หลังฉีดแม่มีอาการหายใจติดขัด และกรณีที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนเป็นพิเศษคือรายที่รพ.วชิระ เด็กเสียชีวิต แม่ปลอดภัย และที่จังหวัดสตูล 2 ราย รายแรกแม่ล้มศีรษะฟาดพื้น ขณะนี้ทั้งแม่และเด็กปลอดภัย เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยยังอยู่ในตู้อบ ส่วนรายที่ 2 เด็กเสียชีวิตในท้องแม่ ขณะนี้คลอดแล้ว จากการตรวจชันสูตรศพเด็ก และข้อมูลทั้งหมดพบว่าแม่สูบบุหรี่มวนใบจาก และพ่อสูบกัญชา จึงมีผลกับเด็กในครรภ์ นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า วานนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการแพทย์ ซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการฯ ที่มีนพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางที่ควรดำเนินการเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ให้คำแนะนำว่า 1.ไม่ควรชะลอการดำเนินการ เพราะตัวเลขที่ตรวจพบในขณะนี้ที่คิดว่าจะเป็นปัญหานั้น ไม่ได้มีความรุนแรงหรือมีจำนวนมากกว่าการฉีดวัคซีนตามปกติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 2.ควรเน้นการรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงมารับการฉีดวัคซีนโดยสมัครใจ และ 3.ควรมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชน ให้เกิดความเข้าใจว่าการให้วัคซีน แม้จะเป็นวัคซีนที่ให้ตามปกติจะมีผลข้างเคียงอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และ4.สำหรับการฉีดวัคซีน ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้โดยเคร่งครัด 6 ข้อ ได้แก่ 1.ในการฉีดวัคซีนนั้น โรงพยาบาลจะต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยหากเกิดอาการผิดปกติ เช่นเครื่องช่วยหายใจ 2.มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่จะรับการฉีดวัคซีน ถึงผลข้างเคียงและรายละเอียดอื่นๆ ให้ครบถ้วนก่อนจะให้บริการ 3.จะต้องตรวจสุขภาพของผู้มารับบริการก่อน ว่าควรได้รับการฉีดวัคซีนในขณะนั้นหรือไม่ 4.หลังจากฉีดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ผู้รับการฉีดจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด 5.มีระบบการติดตามอาการหลังฉีดหลังจากนั้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง และ6.สำหรับสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งอยู่ใน 5 กลุ่มเสี่ยงที่จะรับการฉีดวัคซีน ต้องมีสูติแพทย์หรือพยาบาลที่รับฝากครรภ์ ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในระดับสูงสุด ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนให้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า ควรเดินหน้ารณรงค์ให้ฉีดวัคซีนโดยสมัครใจต่อไป เนื่องจากเป็นมาตรการป้องกัน ที่เป็นประโยชน์มากกว่าการตามแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะรุนแรงและสร้างความเสียหายมากกว่า โดยจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 5 กลุ่ม ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าควรดำเนินการต่อไป นายจุรินทร์กล่าว ด้านแพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ ประธานคณะกรรมการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาปฏิกิริยาข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทุกแขนง เช่นแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ สูติแพทย์ กุมารแพทย์ ร่วมพิจารณา โดยรายแรกกรณีที่รพ.วชิระ เป็นคุณแม่อายุ 38 ปี หลังจากฉีดวัคซีนแล้วก็มีอาการเวียนศีรษะเล็กน้อย ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของอาการที่เกิดขึ้น ประมาณครึ่งชั่วโมงอาการหายไป หลังจากนั้น 5 วันรู้สึกว่าเด็กไม่ค่อยดิ้น ยังไม่ได้ไปพบแพทย์ทันที ไปพบเมื่อเด็กไม่ดิ้นแล้วประมาณ 12 ชั่วโมง หลังจากทำคลอด ตรวจพบเด็กทารกมีจุดเลือดออกตามตัว และมีเลือดออกในสมอง แสดงว่าเด็กขาดออกซิเจน จากการตรวจลักษณะของรกเด็กด้วยตาเปล่า รกมีลักษณะที่ขาดเลือดไปเลี้ยงเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจจากกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูรายละเอียดความสมบูรณ์ของรก ว่ารกมีปัญหาหรือไม่ โดยสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นกับรายนี้มีความสัมพันธ์กับวัคซีนน้อยมาก อย่างไรก็ดี แม่รายนี้ตั้งครรภ์ที่ 3 โดย ครรภ์แรกแท้ง ครรภ์ที่ 2 เป็นแฝด เสียชีวิตตอนคลอด 1 คน รอดชีวิต 1 คน สำหรับที่จังหวัดสตูล 2 ราย รายที่ 1 อายุครรภ์ 33 สัปดาห์แม่อายุ 32 ปี หลังจากฉีดวัคซีนแม่มีอาการเวียนศีรษะเล็กน้อย จากนั้นอาการหายไป รุ่งขึ้นไปทำงานในสวนยางตามปกติและหกล้ม พบว่ามีเลือดออกในสมอง ตามที่แพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุและผ่าตัดคลอดทารก น้ำหนัก 1,800 กรัม น้ำหนักตัวน้อย ขณะนี้ทั้งแม่และลูกปลอดภัย แต่เด็กน้ำหนักตัวน้อยแพทย์จึงให้ออกซิเจน สรุปได้ว่า รายนี้ส่าเหตุการณ์ชัก เกิดจากเลือดออกในสมอง ไม่เกี่ยวกับวัคซีน รายที่ 2 อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ แม่อายุ 33 ปี แม่สูบบุหรี่มวนใบจาก พ่อสูบกัญชา ซึ่งปัญหานี้ส่งผลต่อลูกในท้อง ทำให้การเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ผิดปกติ ซึ่งเด็กที่คลอดออกมาน้ำหนัก 1,000 กว่ากรัมเมื่อเทียบกับอายุครรภ์พบว่าค่อนน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ จึงคิดว่าน่าจะเป็นผลจากการสูบบุหรี่และกัญชาด้วย รายที่จังหวัดสกลนคร แม่อายุ 22 ปี อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ แม่มีน้ำหนักตัวมาก ค่าดัชนีมวลกาย 35 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์อ้วน เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่จึงเสี่ยงมาก ปอดอักเสบ มีปัญหาการหายใจ และมีความดันโลหิตสูง มีไข่ขาวในปัสสาวะ แสดงถึงมีปัญหาครรภ์เป็นพิษอ่อนๆ และยังเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งหากไม่ฉีดวัคซีนลูกในครรภ์ก็มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตอยู่แล้ว จึงไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ มีการศึกษาผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าวัคซีนทำให้เกิดปัญหาต่อรกหรือเด็กในครรภ์ จากการวิเคราะห์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศไทย 30,000 กว่าราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 96 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 12 ราย หรือประมาณร้อยละ 12 จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้และเป็นกลุ่มที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในระดับต้นๆ แต่ในการฉีดจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง ว่ามีอาการผิดปกติใดๆในครรภ์ เช่น เด็กดิ้นน้อยลงหรือไม่ ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในแต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์ที่แท้งประมาณร้อยละ 0.5-0.8 คาดว่าจะมีเด็กตายในครรภ์ประมาณ 4,000 – 5,000 ราย โดยหญิงที่มีอายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป ที่ต้องฉีดวัคซีนประมาณ 5 แสนคน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดปัญหาเด็กตายในครรภ์จึงมีอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนก็ตาม ดังนั้นหากหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ระบาดในระลอก 2 จะมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก ***************************************** 2 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 11    02/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ