นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือฝุ่น PM 2.5 กรมการแพทย์จึงได้ความพร้อมสถานพยาบาล และคลินิกโรคทางเดินหายใจ และคลินิกมลพิษ  ซึ่งกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จึงได้จัดตั้งคลินิกมลพิษเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนและตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เป็นคลินิกเฉพาะทางที่เน้นการทำงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประเมินสถานการณ์มลพิษ ประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจากมลพิษทางอากาศ ใช้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ในการออกมาตรการต่างๆ  เพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชน ควบคู่กับการรักษาและดูแลผู้ป่วย ที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการรักษาและกลับไปใช้ชีวิตปกติ คลินิกมลพิษมีการให้ข้อมูลและประเมินสภาวะสุขภาพ รวมถึงติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ เช่น ระยะเวลาในการได้รับมลพิษ การใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ความรู้เรื่องโรคที่เกี่ยวข้องที่สามารถเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเครือข่ายคลินิกมลพิษที่ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ และได้จัดทำคู่มือปฏิบัติงานของคลินิกมลพิษ การให้คำแนะนำ รวมทั้งจัดตั้งคลินิกมลพิษออนไลน์ www.pollutionclinic.com เพื่อให้ประชาชนได้ประเมินอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเองผ่านระบบออนไลน์ และการสร้างความรอบรู้สุขภาพด้านฝุ่นให้กับประชาชนในพื้นที่ และหากพบว่ามีอาการความรุนแรงสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ในคลินิกออนไลน์หรือส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในคลินิกมลพิษใกล้บ้านได้

นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกมลพิษ จำนวน 81 แห่ง และคลินิกมลพิษออนไลน์ จำนวน 158 แห่งครอบคลุม 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2567 พบผู้ป่วยที่เข้าปรึกษาในคลินิกมลพิษออนไลน์ ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ คิดเป็น 58% รองลงมา คือ โรคตา 42% และโรคผิวหนัง 17% (ผู้ป่วย 1 ราย มีอาการหลายระบบ) ทั้งนี้ กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้ทำคลินิกมลพิษออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ประเมินอาการป่วย ปรึกษาแพทย์ได้ สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพ ช่วงฝุ่นPM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เด็ก และประชาชนที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ 1. สวมหน้ากาก N95 หากไม่มีให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น ซึ่งสามารถกรองฝุ่นละอองได้บางส่วน 2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านเมื่อมลพิษอากาศสูง และงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น 3. ควรปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองพัดเข้ามาในบ้าน 4. ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน แต่ไม่แนะนำให้กวาด เพราะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย 5. แนะนำติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ จะช่วยกรองฝุ่นละอองภายในบ้านได้ โดยก่อนที่จะทำการติดตั้ง จะต้องมั่นใจก่อนว่าเครื่องฟอกอากาศนั้นมีขนาดเหมาะสมกับห้องภายในบ้าน 6. กรณีออกไปทำธุระนอกบ้านควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่แว่นตาหรือแว่นครอบตา และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีเมื่อกลับมาถึงบ้าน 7. ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อลดควันดำจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ 8. หมั่นดื่มน้ำสะอาด  9. หากพบอาการผิดปกติของร่างกายให้รีบมาพบแพทย์ทันที

#โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี #กรมการแพทย์รับมือฝุ่น PM 2.5 ขอขอบคุณ 30 ตุลาคม 2567

 



   


View 291    30/10/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์