เช้าวันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แพร่ระบาดที่สำนักงานกทม. ว่า ขณะนี้สถานการณ์ที่ศาลาว่าการ กทม. เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และในวันพรุ่งนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2553) เวลา 10.30 น. จะประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเน้นย้ำมาตรการรณรงค์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยสมัครใจ และมาตรการปฏิบัติ 6 ข้อที่ต้องนำมาใช้ในการบริการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้รับบริการเป็นหลัก ทั้งนี้ 6 มาตรการดังกล่าว ได้แก่ 1.ในการฉีดวัคซีนนั้น โรงพยาบาลจะต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยหากเกิดอาการผิดปกติ เช่นเครื่องช่วยหายใจ 2.มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่จะรับการฉีดวัคซีน ถึงผลข้างเคียงและรายละเอียดอื่นๆ ให้ครบถ้วนก่อนจะให้บริการ 3.จะต้องตรวจสุขภาพของผู้มารับบริการก่อน ว่าควรได้รับการฉีดวัคซีนในขณะนั้นหรือไม่ 4.หลังจากฉีดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ผู้รับการฉีดจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด 5.มีระบบการติดตามอาการหลังฉีดหลังจากนั้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง และ6.สำหรับสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งอยู่ใน 5 กลุ่มเสี่ยงที่จะรับการฉีดวัคซีน ต้องมีสูติแพทย์หรือพยาบาลที่รับฝากครรภ์ ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในระดับสูงสุด ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนให้ ด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ศาลาว่าการ กทม. พบว่า มีข้าราชการประมาณ 95 คน ป่วยไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง โดยผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 1 ราย แสดงว่าการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระลอกที่ 2 เป็นความจริงตามที่เราได้คาดการณ์ไว้ โดยเกิดการระบาดเป็นจุดๆ ในกรุงเทพ โรงพยาบาล และต่างจังหวัด สำหรับผลการตรวจสอบว่ากรณีหญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาหลังฉีดวัคซีน ได้ผลสรุปว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 กระทรวงสาธารณสุขจะเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกลุ่มเสี่ยงต่อไป ตามนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ไว้ เสริมมาตรการเรื่องให้ข้อมูลความรู้เรื่องวัคซีนในกลุ่มผู้มารับบริการ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ จะให้ข้อมูล คำปรึกษาแนะนำเพิ่มเติม และติดตามเฝ้าระวังเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้กลุ่มเสี่ยงมารับการฉีดวัคซีนให้มากขึ้นต่อไป ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์โรคในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 25 - 31 มกราคม 2553 ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดสะสมผู้เสียชีวิต 198 รายเท่าเดิม ยังพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มๆ ประมาณ 20-30 ราย สามารถวินิจฉัยและควบคุมจำกัดวงการแพร่ระบาดโรคได้ **************************************** 3 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 13    03/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ