กรม คร. ไทยเปิดม่านการประชุม ASEAN Health Cluster 2 (AHC2) ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 29 - 31 ตุลาคม 2567 ตั้งเป้าส่งเสริมการดำเนินงานศูนย์ ACPHEED เเละเสริมความเข้มแข็งของการร่วมมือกันระหว่างภาคส่วน เพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพในภูมิภาคตลอดการทำหน้าที่เป็นประธานของ AHC2 ตลอดห้วง 2 ปีนี้

       เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ณ โรงเเรมพูลเเมน พัทยา จี จังหวัดชลบุรี นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วมเป็นประธานการประชุม ASEAN Health Cluster 2 (AHC2) ครั้งที่ 9 หรือการประชุมกลุ่ม ประเด็นสุขภาพที่ ๒ : เรื่องการตอบโต้อันตรายและภัยคุกคามต่าง ๆ ซึ่งรับไม้ต่อการเป็นประธานการประชุมอย่างเป็นทางการจากสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นระยะเวลา 2 ปี (2567 - 2569) เพื่อผลักดันการพัฒนาระบบสุขภาพของภูมิภาคอาเซียนจากภัยคุกคามทางสุขภาพด้านชีวภาพ จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในการประชุมครั้งนี้มีผู้เเทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศเเละภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนา (Development partners) และผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศของไทย กว่า 140 คนเข้าร่วมการประชุม โดยมีสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานประสานหลักในการจัดประชุม

       นายเเพทย์ภาณุมาศ กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นยึดถือความร่วมมือในการพัฒนาแนวการป้องกันควบคุมโรคเเละภัยสุขภาพเป็นสำคัญ โดยมุ่งเน้น 1) การส่งเสริมความสามารถในการฟื้นตัวในระบบสุขภาพ 2) การเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานทางห้องปฏิบัติการและความปลอดภัยทางชีวภาพ 3) การเตรียมความพร้อม ต่อการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข 4) การดำเนินการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) อย่างมีประสิทธิภาพ 5) การดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และ 6) การสร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดการทางด้านสาธารณสุขขณะเกิดภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน

       ด้านสัตวเเพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย รักษาการนายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ได้รับมอบ จากอธิบดีกรมควบคุมโรค ในการทำหน้าที่เป็นประธานนำการหารือตลอดการประชุมกล่าวว่า การประชุม ASEAN Health Cluster 2 เป็นเวทีที่สำคัญซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน ระบุประเด็นความท้าทาย และเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อปิดช่องว่างการดำเนินงานภายใต้ประเด็นสุขภาพเร่งด่วนที่สำคัญ อาทิ การดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ การพัฒนาเครือข่ายระบาดวิทยาภาคสนาม การสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของอาเซียน การดำเนินงานเพื่อผลักดันศูนย์ ACPHEED การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเละเอดส์ การพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการในอาเซียน เป็นต้น ตลอดจนเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ ACPHEED และพร้อมสนับสนุนแผนดำเนินงานสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) ของภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณสาธารณรัฐสิงคโปร์ ประธาน AHC2 สมัยที่ผ่านมาที่ได้ทำหน้าที่ประธานโดยได้สร้างมาตรฐานและเชื่อมโยงการดำเนินงานส่งไม้ต่อตำแหน่งประธานให้แก่ไทยได้เป็นอย่างดี และประเทศไทยจะร่วมดำเนินงานภายใต้ AHC2 นี้อย่างใกล้ชิดกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามซึ่งจะเป็นประธานต่อจากไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า

       ผลลัพธ์สำคัญของการประชุมที่ไทยได้ผลักดันในการประชุมครั้งนี้ คือการได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาโครงการเฝ้าระวังจีโนม (Genomic surveillance) ในระดับภูมิภาคเพื่อเสริมความเข้มแข็งของ การตรวจจับ ป้องกัน และตอบโต้ต่อการระบาดของโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะมีหารือร่วมกันในการพัฒนาโครงการและขอรับการสนับสนุนงบประมาณทั้งจากหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา  และกองทุนต่าง ๆ อาทิ กองทุนโรคระบาด (Pandemic fund) นอกจากนี้ ไทยได้ผลักดันแนวทางปฏิบัติเพื่อการดำเนินงานร่วมกันในภาวะฉุกเฉินโดยเฉพาะตามแนวชายแดนระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน มุ่งเน้นในระยะเตรียมพร้อมตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพของแต่ละประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นอย่างดีที่จะให้มีการขยายแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว โดยทั้งหมดนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุมโรคของภูมิภาค อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชนอาเซียน

 

********************************

ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567



   
   


View 132    06/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ