สธ.ออก 8 ข้อสั่งการ เฝ้าระวังผลกระทบ "น้ำท่วม" 5 จังหวัดใต้ เข้มป้องกัน รพ. ช่วยเหลือดูแลประชาชน
- สำนักสารนิเทศ
- 168 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย กรณีนักเรียนระยอง 2 โรงเรียน ป่วยเป็นอุจจาระร่วงรวม 1,057 รายอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่พักรักษาที่บ้านได้ ทีมสอบสวนโรคลงเก็บตัวอย่างอาหาร น้ำ อาเจียน เพื่อตรวจหาเชื้ออยู่ระหว่างรอผล โดยการระบาดจำกัดอยู่ในโรงเรียน พบปัจจัยเสี่ยงหลายจุด ทีมสอบสวนได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นกับทางโรงเรียนแล้ว
วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเด็กนักเรียนใน จ.ระยอง ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงหลายร้อยรายว่า ได้รับรายงานจาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวรผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลแกลง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 พบนักเรียนเข้ารับการรักษาด้วยอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ จำนวนมาก จึงได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคใน วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 สรุปข้อมูลเบื้องต้น 2 เหตุการณ์ ที่เชื่อมโยงกัน ดังนี้1.โรงเรียนระดับประถมศึกษา ที่มีนักเรียนมากกว่า 1 พันคน กำลังมีกิจกรรมกีฬาสี นักเรียนรายแรกเริ่มมีอาการวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 จากนั้นทยอยป่วยเพิ่มขึ้น ไปรักษาที่โรงพยาบาลแกลง 75 ราย และกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน 71 ราย ปัจจุบันที่เหลือ 4 รายหายกลับบ้านแล้ว รวมมีผู้ป่วย 342 ราย
และ 2.โรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา มีนักเรียนทั้งหมด 2,762 คน พบมีอาการป่วยทั้งหมด 715 รายส่วนใหญ่ไม่รุนแรง อาการที่พบมากที่สุดคือ ปวดท้อง ร้อยละ 88 รองลงมาได้แก่ อาเจียน ร้อยละ 83 ปวดศีรษะ ร้อยละ 79 ถ่ายเหลว ร้อยละ 72 และ มีไข้ ร้อยละ 68 นักเรียนที่ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลแกลง 18 ราย แพทย์ให้กลับบ้านได้ทั้งหมดผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตัวอย่างอุจจาระจากนักเรียนป่วย 2 ราย พบเชื้อไวรัสโนโร1 ตัวอย่าง และไม่พบเชื้อก่อโรค 1 ตัวอย่าง
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,057 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ ที่รักษาในโรงพยาบาลอาการดีขึ้นแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ทีมสอบสวนได้มีการเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำ ตัวอย่างอาเจียน อุจจาระส่งตรวจหาเชื้อก่อโรคเพิ่มเติม อยู่ระหว่างรอผลตรวจ ขณะนี้การระบาดจำกัดอยู่ในโรงเรียน ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบปัจจัยเสี่ยงหลายจุด เช่น สภาพแวดล้อมของโรงครัว สุขาภิบาลอาหารและน้ำในร้านจำหน่ายอาหาร จึงได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลเพื่อป้องกันความเสี่ยง แนะนำนักเรียนกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ
*********************************************** 9 พฤศจิกายน 2567