สธ.ออก 8 ข้อสั่งการ เฝ้าระวังผลกระทบ "น้ำท่วม" 5 จังหวัดใต้ เข้มป้องกัน รพ. ช่วยเหลือดูแลประชาชน
- สำนักสารนิเทศ
- 168 View
- อ่านต่อ
ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 เผยผลการสอบสวนโรคอุจจาระร่วงระบาด 2 โรงเรียน “ระยอง” มีผู้ป่วยรวม 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย ครูและบุคลากร 18 ราย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโนโร ที่ปนเปื้อนมากับ “น้ำและน้ำแข็ง” ในสัปดาห์กีฬาสีเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อโรค รวมถึงสภาพแวดล้อมไม่ถูกหลักสุขาภิบาล สั่งเติมคลอรีนถังพักน้ำดื่ม ปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบ และสั่งหยุดจำหน่ายน้ำแข็งจากโรงโม่
วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2567) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนโรคอุจจาระร่วงระบาดในนักเรียน 2 โรงเรียน อ.แกลง จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมจำนวนมากกว่าพันคน ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกำชับให้เร่งทำการควบคุมโรคโดยเร็วเพื่อความปลอดภัย โดยล่าสุดได้รับรายงานจาก นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง พบผู้ป่วยจากทั้ง 2 โรงเรียนรวมทั้งหมด 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย จากทั้งหมด 4,559 คน คิดเป็นอัตราป่วย ร้อยละ 31.1 ครูและบุคลากร 18 ราย จากทั้งหมด 183 คน คิดเป็นอัตราป่วย ร้อยละ 9.8 สาเหตุเกิดจากติดเชื้อไวรัสโนโร ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคทางเดินอาหาร โดยรับรายงานผู้ป่วย 1 ราย จากโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งไปตรวจที่ รพ.เอกชน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พบเชื้อ Norovirus genogroups II จากชุดตรวจเร็ว และจากการเก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วย 4 ราย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พบเชื้อก่อโรค 3 ชนิด ได้แก่ เชื้อ Norovirus GI/GII, Enteropathogenic E.coli (EPEC) ในตัวอย่างของนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา 1 ราย และเชื้อ Enteroaggretive E.coli (EAEC) ในตัวอย่างของผู้ปรุงและเตรียมอาหารโรงเรียนประถมศึกษา 1 ราย และอยู่ระหว่างรอผลตรวจอาเจียน 1 ตัวอย่างของนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมถึงน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำแข็ง จำนวน 6 ตัวอย่าง และอาหาร 2 ตัวอย่าง ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
“ส่วนการตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย จากการเก็บตัวอย่างด้วยชุดทดสอบ SI-2 ในภาชนะทำครัว มือผู้ปรุงและเตรียมอาหาร ทั้ง 2 โรงเรียน จำนวน 13 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนในตัวอย่างจากโรงเรียนมัธยมศึกษา 4 ตัวอย่าง ได้แก่ เขียงและมีด หัวก๊อกน้ำกด มือผู้ปรุงและเตรียมอาหาร ขณะที่การเก็บตัวอย่างน้ำด้วยชุดตรวจ อ.11 จากตู้กดน้ำดื่ม 6 ตัวอย่างในโรงเรียนประถมศึกษา พบการปนเปื้อน 3 ตัวอย่าง” นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ผลการสอบสวนโรคชี้ให้เห็นว่า “น้ำและน้ำแข็ง” ที่บริโภคในโรงเรียนในสัปดาห์กีฬาสีเป็นปัจจัยเสี่ยงของการป่วย เนื่องจากผลการสำรวจสภาพแวดล้อมโดยรอบ พบว่า ระบบประปาที่ใช้เป็นระบบประปาผิวดิน ตรวจคลอรีนอิสระคงเหลือได้ 0.09 ppm ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ขณะที่ผลการตรวจโรงน้ำแข็ง ซึ่งมีใบอนุญาตถูกต้อง พบว่า ใช้น้ำดิบจากระบบประปาเทศบาลตำบลเมืองแกลง มีบ่อพักน้ำให้ตกตะกอน แล้วนำน้ำใสมาเติมคลอรีนแบบอัตโนมัติก่อนผ่านระบบกรอง แล้วส่งเข้าระบบผลิตน้ำแข็ง ส่วนโรงโม่น้ำแข็ง จะนำน้ำแข็งซองมาโม่ที่บ้านเพื่อจำหน่าย ตรวจพบจุดเสี่ยงไม่ได้มาตรฐานคือ ถังใส่น้ำแข็งซองมีการแช่วัสดุอื่นในถังด้วย รถที่ขนน้ำแข็งใช้ผ้าพลาสติกปูพื้นกระบะเพื่อวางน้ำแข็ง และจะโม่เมื่อมีผู้มาซื้อโดยบรรจุใส่กระสอบอาหารสัตว์ที่ล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
“มาตรการควบคุมโรคที่ดำเนินการเพิ่มภายหลังการสอบสวนโรค คือ 1.เติมคลอรีนในถังพักน้ำดื่ม น้ำใช้ทั้ง 2 โรงเรียน 2.ประสานเทศบาลตำบลเมืองแกลงในการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบของโรงเรียน 3.สั่งยุติการจำหน่ายน้ำแข็งจากโรงโม่น้ำแข็ง และให้ทำการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในส่วนของสถานที่ แนะนำสุขวิทยาส่วนบุคคลของคนงานโรงงานผลิตน้ำแข็ง และร้านค้ารายย่อยที่นำน้ำแข็งโม่ส่งให้กับโรงเรียน 4.แนะนำโรงเรียนห้ามนำน้ำแข็งโม่มาใช้บริโภค และ 5.ประสานโรงเรียนทุกแห่งเฝ้าระวังและเพิ่มความเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำปนเปื้อน” นพ.โสภณกล่าว
************************************************* 11 พฤศจิกายน 2567