กรม สบส. ร่วม ตำรวจ ปคบ. บุกรวบหมอนวดเถื่อน ในร้านเสริมสวยย่านห้วยขวาง
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- 14 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนสุราส่งผลต่อร่างกายของเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ทั้งทำลายสมองและระบบต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลระยะยาวต่อพัฒนาการ
ทางสมอง ยิ่งดื่มในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และอาจทำให้สลบได้
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุรา หรือเหล้า คือ เครื่องดื่ม ที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ไม่เหมาะสมสำหรับให้เด็กดื่ม ในผู้ใหญ่เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกายภายในเวลา 5 นาที เมื่อมีการดื่มในช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งการก่อพิษของแอลกอฮอล์ในเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ต่างกัน เพียงแต่ในปริมาณการดื่ม
ที่เท่ากันความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดของเด็กจะมากกว่าเนื่องจากน้ำหนักตัวเด็กที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ และโครงสร้างที่ป้องกันสารพิษในระบบไหลเวียนเลือดไปสู่สมองของเด็กพัฒนาการยังไม่เต็มที่ ทำให้สารพิษเข้าสู่สมองได้มากกว่าผู้ใหญ่ รวมไปถึงอวัยวะต่างๆ ตับและไต ที่พัฒนายังไม่เต็มที่ ทำให้การขับสารพิษออกจากร่างกายได้ช้ากว่าผู้ใหญ่
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่เด็กดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งที่ตั้งใจ หรือจะดื่มด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นเรื่องที่อันตรายต่อสุขภาพร่างกายของเด็กมาก เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อร่างกายของเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ทั้งทำลายสมองและระบบต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมอง จะทำให้เด็กสูญเสียความสามารถในการจดจำ ความคิดสร้างสรรค์ถูกทำลาย ทั้งนี้การที่สมาชิกในครอบครัวดื่มสุราให้เด็กเห็นเป็นประจำ มีแนวโน้มที่เด็กจะโตขึ้นมาเป็นนักดื่มมีมากกว่าปกติถึง 4 เท่า ย้ำเตือน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงผู้ใหญ่ที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยกำลังอยากรู้อยากลอง ควรให้เวลาในการดูแลบุตรหลานให้มากขึ้น หาเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน หมั่นสังเกตพฤติกรรม หากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาและ
สารเสพติด รวมถึงสุราและบุหรี่ ควรรีบเข้าไปพุดคุยบอกกล่าวถึงโทษพิษภัยและอันตรายต่อตนเอง หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดรวมถึงสุราและบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
*************************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช.
-ขอขอบคุณ- 12 พฤศจิกายน 2567