วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของทั่วโลกและมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเกิดจากการดำเนินชีวิตและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ข้อมูลจาก IDF Diabetes Atlas พบว่า 1 ใน 10 คน ทั่วโลกป่วยด้วยโรคเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 4 ล้านคนต่อปี คาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และภายในปี 2588 จะเพิ่มมากถึง 783 ล้านคน ผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 90% เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 และเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย สำหรับประเทศไทยพบว่า 1 ใน 10 คน ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 6.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และร้อยละ 40 ที่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วย จะเห็นได้ว่าปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีใจความส่วนหนึ่งในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 เน้นย้ำให้ใช้เครือข่ายสาธารณสุขในการมีส่วนร่วมป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายในการส่งเสริมให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม โดยมุ่งเน้นให้คนไทยนับ  Carb ในการรับประทานอาหารของแต่ละบุคคลในแต่ละวันเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อโดยขับเคลื่อนผ่านกลไกอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.)

          นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก และในปี พ.ศ. 2567 นี้ ได้กำหนดประเด็นสารคือ Diabetes and Well-Being: สุขกาย สุขใจ โลกสดใส ใส่ใจเบาหวาน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขโดยการจัดการสุขภาพด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม แม้จะต้องอยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน โรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องเผชิญกับความท้าทายในการดูแลตนเองเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม และจัดการกับภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวานขึ้นตา (จอตาเสื่อม) เกิดแผลเบาหวานที่เท้า จากการเสื่อมของระบบประสาทรับความรู้สึกและการไหลเวียนโลหิตส่วนปลาย เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและอาจร้ายแรงถึงขั้นตัดเท้า ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงต้องดูแลและจัดการตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขได้โดย การจัดการสุขภาพด้านร่างกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยง การจัดการสุขภาพด้านจิตใจ โดยการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี ปรับมุมมองในเชิงบวก ลดความเครียด และความวิตกกังวล ที่เกิดจากการต้องดูแลตนเองอย่างต่อเนื่องและการจัดการสุขภาพด้านสังคมโดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในสังคมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างแม้ว่าจะต้องดูแลสุขภาพตนเองเป็นพิเศษก็ตาม

          นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน กองโรคไม่ติดต่อได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคเบาหวานให้เข้าสู่ระยะสงบ (DM Remission) คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการดูแลรักษาจนสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน โดยไม่ต้องใช้ยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเข้มข้น โดยการเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ และธัญพืชต่างๆ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม มีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือสะสม 150 นาทีต่อสัปดาห์ ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ผู้ป่วยยังคงต้องติดตามสุขภาพและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการกลับมาของโรคเบาหวาน สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเกณฑ์ปกติของระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรก และรักษาได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

************************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567



   
   


View 161    13/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ