กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนลอยกระทงให้ปลอดภัย ยึดหลัก “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” ป้องกันการสูญเสียของคนในครอบครัวที่คุณรักจากอุบัติเหตุการจมน้ำ เผยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีคนจมน้ำในคืนวันลอยกระทง 11 ราย และขอเน้นย้ำประชาชนให้ระมัดระวังการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ
          วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันลอยกระทง เป็นประเพณีที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งทุกปีจะเกิดอุบัติเหตุคนจมน้ำเสียชีวิต โดยข้อมูลการเฝ้าระวังการจมน้ำในคืนลอยกระทงของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562-2566) มีคนจมน้ำเสียชีวิตรวม 11 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำสุด คือ 10 ปี และอายุสูงสุด คือ 62 ปี สาเหตุการจมน้ำที่พบมากที่สุด คือ เก็บเงินในกระทง (6 ราย) สาเหตุรองลงมาคือ พลัดตก เมาสุรา เรือล่ม กระโดดลงไปช่วย 
          ในการนี้กรมควบคุมโรคได้เน้นย้ำมาตรการสำหรับประชาชนในการป้องกันการจมน้ำเพื่อป้องกันการสูญเสียคนในครอบครัวที่คุณรักจากอุบัติเหตุการจมน้ำ คือ “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” ไม่เมา คือ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันลอยกระทง หากดื่มควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ หรือลงไปในแหล่งน้ำ ไม่เก็บ คือ ไม่แนะนำให้ลงน้ำไปเก็บเงินในกระทง เพราะน้ำเย็นอาจทำให้เป็นตะคริวเสี่ยงจมน้ำได้ และไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เด็กต้องอยู่ในระยะที่แขนเอื้อมถึง และไม่ให้เด็กลอยกระทงกันเอง และขอเชิญชวนให้ทุกคนลอยกระทงโดยไม่ใส่เงินลงไปในกระทง

          นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขอความร่วมมือสำหรับหน่วยงานที่จะจัดงานลอยกระทงในปีนี้ให้ยึดหลัก “3 เตรียม” คือ 1.เตรียมพื้นที่ให้ปลอดภัย กั้นพื้นที่สำหรับลอยกระทง ติดป้ายเตือนบริเวณพื้นที่เสี่ยง มีผู้ดูแลและช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน 2.เตรียมชูชีพ สำหรับผู้โดยสารเรือทุกคนและไม่บรรทุกเกินจำนวน 3.เตรียมอุปกรณ์ บริเวณแหล่งน้ำที่จัดงานเป็นระยะเพื่อช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น ห่วงชูชีพ ไม้ ถังแกลลอนผูกเชือก 
          นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ดังนี้ 1.ห้ามให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง 2.ไม่เก็บประทัดไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง 3.ไม่จุดประทัดซ้ำหากจุดแล้วไม่ติด 4.ห้ามโยนพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟใส่ผู้อื่น 5.ออกห่างจากบริเวณที่จุดประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ 6.ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้ๆ ไว้ใช้กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือเกิดอุบัติเหตุสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ดังนี้ 1.ถอดเสื้อผ้า เครื่องประดับที่ติดไฟออก 2.หากเกิดแผลไหม้ ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดประคบหรือเปิดน้ำไหลผ่านบาดแผล แล้วปิดด้วยผ้าสะอาด 3.หากบาดเจ็บที่ดวงตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที หากมีบาดแผลฉีกขาดหรืออวัยวะขาด โทร. 1669 และรีบส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422  

****************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567


 



   
   


View 253    14/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ