โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เผย โรคภูมิแพ้ตัวเอง Systemic Lupus Erythematosus (SLE) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า             “โรคพุ่มพวง”  เป็นโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะทั่วร่างกาย และอวัยวะที่เกิดการอักเสบจะได้รับความเสียหาย โดยผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีการอักเสบ ในแต่ละอวัยวะและมีอาการแสดงแตกต่างกัน มักเกิดการอักเสบของหลายอวัยวะร่วมกัน แนะนำผู้ป่วยหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรค SLE ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus เป็นโรคภูมิคุ้มกันทําลายตนเองหรือโรคแพ้ภูมิตนเอง นับเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย และมีอัตราการเสียชีวิตตํ่า โดยพบเพียงร้อยละ 0.1 (0.014 - 0.122) หรือคิดเป็นจํานวนผู้ป่วยในประเทศไทยราว 50,000 - 700,000 คน ส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงช่วงอายุราว 20 - 40 ปี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด และมีหลายปัจจัยร่วมกันที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง สำหรับอาการโดยทั่วไปที่พบได้บ่อยมีดังนี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ต่ำ ปวดข้อ ปวดเมื่อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผมร่วง มีผื่นที่หน้า ที่แก้ม คล้ายปีกผีเสื้อ ผื่นขึ้นตามตัว แขน ขา ผื่นแพ้แสง แผลในปาก บวม ซีด มีจ้ำเลือดหรือจุดแดงคล้ายยุงกัดตามแขนขา มีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนังที่ได้รับแสงแดด โดยเฉพาะบริเวณจมูกและแก้ม อาการปวดบวมตาม ข้อ กล้ามเนื้อ เป็นอาการนำที่พบได้บ่อย มักมีอาการเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า สาเหตุของการเกิดโรคอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด การติดเชื้อไวรัส การติดเชื่อแบคทีเรีย การได้รับวัคซีน การได้รับยา หรือสารเคมีบางชนิด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานในร่างกาย ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยโรคต้องอาศัยหลักฐานจากลักษณะอาการร่วมกันกับ   ผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการ ทั้งการตวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจอื่น ๆ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค ซึ่งโรคนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานและเคร่งครัด เนื่องจากอาการที่กำเริบอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) หรือโรคพุ่มพวง เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้อาการสงบได้

นายแพทย์สูงชัย อังธารารักษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สาขาอายุรศาสตร์โรคข้อและภูมิคุ้มกัน กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) หรือโรคพุ่มพวง สามารถเกิดจากการกระตุ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความไม่สมดุลของฮอร์โมนในวัยเจริญพันธ์ ความเครียด หรือปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัส,แสงแดด โดยอาการของโรคมีการกำเริบและสงบเป็นระยะ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรค แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากอาการและอาการแสดงดังกล่าวของผู้ป่วย ร่วมกับ          การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจทางภูมิคุ้มกัน (ANA , anti-dsDNA , anti Sm) โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัย จากสมาคมแพทย์โรคข้อของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งวิธีการรักษาจะแบ่งตามระดับของความรุนแรง กรณีที่อาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยบรรเทาตามอาการ หากมีอาการรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะสำคัญ เช่น ไตอักเสบ สมองอักเสบ เกร็ดเลือดต่ำ การทำลายเม็ดเลือดแดง จะมีการใช้ยาต้านมาลาเรีย ยาสเตียรอยด์และยากดภูมิ ซึ่งขนาดและวิธีการ    ให้ยาจะขึ้นกับความรุนแรงของโรคและอวัยะที่อักเสบ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเองและทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล โดยวัตถุประสงค์ของการรักษาคือการควบคุมโรคให้เข้าสู่ระยะสงบ วิธีการป้องกันจึงเป็นการดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวมให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้ 1.ลดความเครียด 2.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 3.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสะอาดหลีกเลี่ยงอาหารดิบ 4.หลีกเลี่ยงแสงแดด 5.ป้องกันการติดเชื้อ เช่นสวมใส่หน้ากากอนามัย 6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 7.ไม่สูบบุหรี่หรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 8.หลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสสารเคมี 9.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและห้ามหยุดยาเอง หลีกเลี่ยงยาสมุนไพรหรือยาชุด อาหารเสริมนอกระบบ แม้โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด การติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงช่วยทำให้โรคเข้าสู่ระยะสงบหรือหายและช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

 

**************************************

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #โรคSLE #โรคแพ้ภูมิตนเอง#โรคพุ่มพวง

- ขอขอบคุณ -

15 พฤศจิกายน 2567




   


View 314    15/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์