วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2553) นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ. ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ. ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) และคณะ ประชุมการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติสัญจร และตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป้าหมายที่สำคัญของการแพทย์ฉุกเฉินคือต้องการที่จะป้องกันกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับประชาชนไม่ให้มีหรือมีน้อยที่สุด หากเกิดขึ้นมีเป้าหมายสำคัญว่าจะช่วยชีวิตให้ได้มากที่สุด ขณะนี้ได้กำหนดมาตรฐานพาหนะที่จะนำผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศในเขตบริการ 3 ลักษณะ คือ รถ เรือและเฮลิคอปเตอร์ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติสนับสนุนงบประมาณในการนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาสถานพยาบาล กำหนดอัตราไว้ดังนี้ ทางรถยนต์ 350-1,000 บาท หรือตามสภาพความเป็นจริงในบางพื้นที่เช่นในพื้นที่ทุรกันดาร ทางเรือ 500-50,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง สภาพเรือและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ส่วนเฮลิคอปเตอร์ เฉลี่ย 40,000 บาทต่อชั่วโมง นายจุรินทร์กล่าวต่อว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ลงนามเสนอคณะรัฐมนตรี ของบกลาง 133 ล้านบาทช่วยสนับสนุนงานศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ตั้งไว้ 79 ศูนย์ ที่ประชุมวันนี้ได้เห็นชอบเป้าหมายในอนาคตที่จะช่วยให้งานการแพทย์ฉุกเฉินช่วยชีวิตประชาชนได้มากขึ้น โดยในปี 2553 จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยหนัก วิกฤต ฉุกเฉินมาใช้บริการ 1669 เพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างน้อยร้อยละ 5 ซึ่งเดิมมีปีละ 50,000 ครั้ง ก็จะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านครั้งทั่วประเทศ กรณีที่มีผู้ป่วยฉุกเฉิน รถพยาบาลที่ส่งไปรับผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุ ควรจะไปถึงภายใน 10 นาที และนำส่งโรงพยาบาลไม่เกินภายใน 1 ชั่วโมง โดยตั้งเป้าจะสามารถให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 47 เพิ่มเป็นร้อยละ 60 นอกจากนี้จะให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้ประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น เช่น จัดรถพยาบาล รถกู้ชีพ ใช้งบของหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ปัจจุบันมีเข้าร่วมร้อยละ 40 ของหน่วยงานทั้งหมด จะให้เพิ่มเป็นร้อยละ 60 “ผมได้มอบนโยบายเพิ่มเติมว่าขอให้ทำแผนให้ชัดเจนว่าพื้นที่เป้าหมายใดที่ควรจะมีรถ เรือ หรือเฮลิคอปเตอร์ บริการทั่วประเทศ อย่างน้อยที่สุดขั้นต่ำที่มีความจำเป็น เช่น เป็นพื้นที่ทุรกันดาร ที่วิกฤต ควรจะมีที่ใดบ้าง จำนวนกี่จุด และขณะนี้มีอยู่เท่าไหร่ เพื่อจะได้จัดบริการเพิ่มเติมให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง” นายจุรินทร์กล่าว ทั้งนี้ คำว่าผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือกรณีเป็นโรคที่มีอาการหนักเข้าข่ายฉุกเฉิน เช่น ช็อค เป็นโรคหัวใจ เข้าขั้นโคม่าในความรู้สึกของชาวบ้าน สามารถโทรแจ้ง 1669 ได้ จะมีเจ้าหน้าที่รับสายตลอด 24 ชั่วโมง และมีพยาบาลคอยวินิจฉัย ส่งรถพยาบาลไปรับ ให้บริการนำส่งโรงพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยรักษาชีวิตให้ทันท่วงทีถือว่าเป็นความก้าวหน้าของการสาธารณสุขประเทศไทย ””” 21 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 12    21/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ