ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
สาธารณสุขเผยมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโลกปีละไม่ต่ำกว่า 55,000 ราย ร้อยละ 95 เกิดในแถบแอฟริกาและเอเชีย ในไทยพบส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี สาเหตุกว่าร้อยละ 80 เป็นสุนัขมีเจ้าของ เกือบครึ่งไม่รู้ประวัติการฉีดวัคซีน ย้ำโรคนี้จะป้องกันได้ผลหากสุนัขได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 80 โดยตั้งเป้ากำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย พร้อมกับทั่วโลกให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2563
วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2553) ที่โรงแรมเวียงอินทร์ จังหวัดเชียงราย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด/อำเภอ จากจังหวัดเชียงราย ตาก พิจิตร และสิงห์บุรี 130 คน เพื่อพัฒนาเครือข่าย จัดทำแผนปฏิบัติบูรณาการในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่
นางพรรณสิริ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกและองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ได้ประกาศเป้าหมายให้ทุกประเทศ เร่งกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดภายในปี พ.ศ. 2563 หรือค.ศ. 2020 เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลกปีละไม่ต่ำกว่า 55,000 รายเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 95 ประมาณ 52,250 รายอยู่ในแถบเอเชียและแอฟริกา เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีร้อยละ 30-60 ในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 10-20 ราย จากเดิมที่เคยมีคนเสียชีวิตปีละกว่า 300 ราย ผู้ถูกสุนัขกัดพบว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี สัตว์ที่กัดมากกว่าร้อยละ 80 เป็นสุนัขมีเจ้าของ และไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนถึงร้อยละ 47 รัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการควบคุมโรคทั้งในคนและสัตว์ถึงกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท แต่ความครอบคลุมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขทุกพื้นที่ยังไม่ถึงร้อยละ 80 โดยคาดว่าทั่วประเทศขณะนี้มีสุนัขทั้งเลี้ยงในบ้านและจรจัดอยู่ประมาณ 8 ล้านตัว
นางพรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นจากการสอบสวนโรคที่น่าห่วงขณะนี้ พบว่ากว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ถูกสุนัขอายุน้อยกว่า 3 เดือนกัด หรือถูกสุนัขมีเจ้าของ หรือสุนัขที่เลี้ยงไว้แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากัด จึงไม่สนใจไปรับการฉีดวัคซีน เนื่องจากคิดว่าในสุนัขที่เลี้ยงไว้เอง หรือเห็นว่ามีเจ้าของจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุดร้อยละ 90 เป็นสุนัข การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉัดวัคซีน โดยเจ้าของต้องรับผิดชอบพาไปฉีด และไม่ปล่อยสุนัขออกมาเพ่นพ่าน ชุมชนต้องมีส่วนร่วม และประชาชนควรหลีกเลี่ยงการถูกสุนัขกัด หากถูกกัดต้องพบแพทย์ทันที
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2552 มี 24 ราย เป็นผู้ใหญ่ 19 ราย เด็ก 5 ราย อยู่ในภาคกลาง 20 ราย ได้แก่ กทม. 7 ราย กาญจนบุรี 4 ราย สงขลา 3 ราย สุพรรณบุรี ราชบุรี ระยอง จังหวัดละ 2 ราย ปราจีนบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ตาก จังหวัดละ 1 ราย ในปี 2553 นี้มีรายงานแล้ว 6 ราย ที่ กทม. 3 ราย กาญจนบุรี สระบุรีและสมุทรปราการ จังหวัดละ 1 ราย ในการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญคือ สุนัขทั้งหมดตั้งแต่อายุ 3เดือนขึ้นไป ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องร่วมจัดงบประมาณสนับสนุนและประสานให้มีการฉีดวัคซีนในสุนัขทุกตัวในหมู่บ้าน โดยรณรงค์ฉีดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยในปีนี้จะนำร่องโครงการความร่วมมือ 12 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สมุทรสาคร ภูเก็ต สงขลา ระยอง พิจิตร ตาก เชียงราย สิงห์บุรี สุรินทร์ อุดรธานีและอุบลราชธานี ************* 24 กุมภาพันธ์ 2553