สาธารณสุขเตือนประชาชนระวังโรคไข้เลือดออก ปีนี้มีสัญญานโรคอาจจะระบาด พบผู้ป่วยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์รวมกว่า 3,700 ราย เสียชีวิต 3 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาร้อยละ 38 พบผู้ป่วยอายุมากกว่า 14 ปีมากขึ้น ในกทม.พบเกือบร้อยละ 60 เน้นย้ำให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วัน
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้สภาพอากาศร้อนเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าห่วงคือโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีสาเหตุจากยุงลาย มีข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพบว่าขณะนี้ตัวลูกน้ำยุงลาย จะกลายเป็นตัวยุงเร็วกว่าอดีตที่ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็เหลือประมาณ 5 วัน จะทำให้ปริมาณยุงตัวโตเต็มวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปี 2553 พบว่าโรคมีสัญญานอาจเกิดการระบาดในปีนี้ได้ โดยในช่วงเดือนมกราคม จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเข้ารักษาในโรงพยาบาลสะสมรวม 3,757 ราย เฉลี่ยวันละ 85 ราย เสียชีวิต 3 ราย มากที่สุดในภาคกลางมีร้อยละ 55 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาคือที่ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้อยที่สุดคือที่ภาคเหนือ พบทั้งในเมืองและชนบท โดยสถิติผู้ป่วยใน 2 เดือนแรกปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2552 ถึงร้อยละ 49 ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งหมด 2,511 ราย เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกในปีนี้ พบทุกกลุ่มอายุ แต่มีแนวโน้มพบในเด็กอายุมากกว่า 14 ปีขึ้นไปมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กทม.พบมากถึงร้อยละ 60
ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่นๆก่อนถึงฤดูกาลระบาดทุกปีคือช่วงเดือนพฤษภาคม ตุลาคมเพื่อป้องกันคนไม่ให้ป่วยให้ได้มากที่สุด โดยให้ทุกพื้นที่ช่วยกันลดจำนวนยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนทุกหลังคาเรือน ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่อยู่ในบ้านเช่นตามแจกันไม้ประดับ น้ำหล่อขาตู้ ต้องเปลี่ยนน้ำทิ้งทุก 7 วัน และแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบๆบ้าน เช่นที่จานรองกระถางไม้ประดับ รวมทั้งทำลายภาชนะที่อาจเป็นแหล่งให้น้ำขังได้เช่น กระป๋อง กล่องโฟม กะลามะพร้าว ยางรถยนต์ นอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด
และให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรค หากมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก ให้ดำเนินการสอบสวนโรคและควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด และพ่นสารเคมีรอบบ้านผู้ป่วยรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร กำจัดยุงลายที่มีเชื้อให้หมดโดยเร็วที่สุด เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดโรค นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกรักษาให้หายได้ หากมารับการรักษาเร็ว โดยอาการทั่วไปของโรคนี้ที่เกิดในเด็กและผู้ใหญ่จะไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ มีไข้สูงมาก กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาจมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ สีแดงที่ผิวหนังกระจายตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แต่ในผู้ใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามาก มักเป็นรุนแรงกว่าเด็ก และจะมาพบแพทย์ช้า เนื่องจากไม่คิดว่าตัวเองป่วยเป็นไข้เลือดออก มักจะไปซื้อยากินเองก่อนเมื่อรู้สึกมีไข้ หรือไม่สบายตัว ทำให้อาการหนัก รวมทั้งมักใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงทั้งแก้ปวดและลดไข้ ทำให้ระคายเคืองและมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหากเป็นไข้เลือดออกก็ยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น
นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ตามปกติทั่วไปหลังจากมีอาการไข้ แล้วไข้เริ่มลดลง แสดงว่าอาการดีขึ้น แต่หากป่วยเป็นไข้เลือดออก ในระยะที่ไข้ลดลง จะเป็นช่วงที่มีอันตรายมาก ขอให้ประชาชนสังเกตว่าหากระยะที่ไข้ลดลง แต่ผู้ป่วยยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย มีอาการปวดท้อง แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ กินอาหารได้ก็ตาม จะต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากไม่ไปพบแพทย์ภายใน 10 12 ชั่วโมง อาจเกิดอาการช็อค มีอาการตับวาย ไตวายแทรกซ้อน จนเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสเด็งกี่ที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยถือว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น มีครบทุกสายพันธุ์ หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานสำหรับสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นคนคนหนึ่ง ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหลือได้ และการติดเชื้อครั้งที่ 2 นี้ มักเกิดอาการที่รุนแรงมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรก ดังนั้นแม้ว่าเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน ก็สามารถเป็นซ้ำได้หากไม่ได้ป้องกันยุงลายกัด หรือไม่ได้กำจัดลูกน้ำ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นภาชนะใส่น้ำ หรือภาชนะที่มีน้ำขังในบ้านและบริเวณรอบบ้าน
**************************** 1 มีนาคม 2553
View 10
01/03/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ