กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมชี้แจงนโยบายนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ ให้เร่งพัฒนาบริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกทุกแห่ง ให้เป็นที่ประทับใจประชาชน ใช้เวลารอน้อยลง และไม่แออัด เผยในปีที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกมากถึง 190 ล้านครั้ง วันนี้ (4 มีนาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหารระดับสูงในส่วนกลางและภูมิภาค ประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงนโยบายการปรับโฉมบริการด่านหน้า ของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ให้พัฒนาสู่ความประทับใจของประชาชน ซึ่งในวันนี้ได้ให้โรงพยาบาลที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาบริการด่านหน้า 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแพร่ โรงพยาบาลยโสธร โรงพยาบาลสงขลา และโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา นำเสนอผลงานเพื่อเป็นตัวอย่างและนำไปปรับใช้ขยายผลทั่วประเทศ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้นโยบายในการเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล และคุณภาพการให้บริการในทุกระดับ ให้เป็นที่ประทับใจประชาชน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านการรักษาพยาบาลทีมเครืออข่ายที่ครอบคลุมในประเทศ ครอบคลุมถึงในระดับหมู่บ้าน บริการที่ถือว่าเป็นด่านสำคัญและต้องเร่งปรับปรุงโดยเร็วที่สุดคือ บริการที่จุดผู้ป่วยนอก หรือที่เรียกว่า โอพีดี ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีความแออัดมาก และเป็นจุดที่เกิดปัญหาร้องเรียนบ่อยที่สุด ในปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 116 ล้านครั้งในปี 2550 เพิ่มเป็น 190 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้าถึงบริการได้มากขึ้น นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าบริการของโรงพยาบาลซึ่งมี 4 ระดับ ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้เปลี่ยนจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งบริการเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพจิตของผู้เจ็บป่วย เพราะหากได้รับการดูแลที่ดีจากเจ้าหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณผู้ให้บริการ อาการป่วยจะบรรเทาลงได้ และเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในบริการภาครัฐมากขึ้น ไม่ว่าจะเข้าใช้บริการที่ใด จะได้รับการดูแลเอาใจใส่มาตรฐานเดียวกัน นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานปรับโฉมบริการครั้งนี้ จะดำเนินการหลายเรื่องได้แก่ การปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอกให้ดูทันสมัยและผ่อนคลาย เช่น มีมุมเด็กเล่น มุมอ่านหนังสือสุขภาพ จัดห้องน้ำให้สะอาด หรูหรา มีกลิ่นหอม เพิ่มเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครภาคประชาชน เข้ามาให้การดูแลช่วยเหลือให้คำแนะนำคอยเป็นเพื่อนใจแก่ผู้มารับบริการอย่างอบอุ่น เป็นกันเองอย่างต่อเนื่อง มีการขยายบริการเพิ่มขึ้น ให้ประชาชนที่เจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง เข้าใช้บริการได้ตามเวลาที่สะดวก เช่น การเปิดคลินิกนอกเวลาหรือคลินิกพิเศษ นอกจากนี้ยังมีระบบการสื่อสารแก่ผู้ป่วยและญาติระหว่างรอพบแพทย์ ซึ่งจะใช้เวลารอน้อยลงกว่าเดิม และพัฒนาระบบบริการอาทิ จัดระบบบริการประชาชนหรือคอลเซนเตอร์ (Call center) ตลอด 24 ชั่วโมง จัดระบบคิวการรอตรวจ และบอกผู้รับบริการได้ว่าจะได้รับบริการในช่วงใด พร้อมทั้งจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางอินเตอร์เน็ต โรงพยาบาลปลายทางได้รับทราบประวัติผู้ป่วยล่วงหน้า เตรียมพร้อมให้บริการทันที ทั้งนี้ จะมีการติดตาม ประเมินการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยให้โรงพยาบาลเลือกใช้ระบบบริหารตามบริบทของตนเอง แต่บริการที่ประชาชนชุมชน และสังคมได้รับต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด และจะมีการสรรหาบุคคลและหน่วยบริการยอดเยี่ยมและให้รางวัล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ เสริมพลังแก่ผู้ให้บริการ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว ************************************ 4 มีนาคม 2553


   
   


View 10    04/03/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ