สมศักดิ์ ห่วง ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว หวั่นฝุ่น-โลหะหนักเกิน ทีม SEhRT กรมอนามัย เยี่ยมศูนย์พักพิงฯ
- กรมอนามัย
- 53 View
- อ่านต่อ
สมัชชาสหประชาชาติมีมติเรื่อง “Global Drowning Prevention” อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day)” และเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการจมน้ำที่มีประสิทธิภาพ
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2568) นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน การจมน้ำตามข้อเสนอของสหประชาชาติ ครั้งที่ 1/2568 ภายใต้คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ จำนวน 30 หน่วยงาน
นายแพทย์ดิเรก กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) พบว่า การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลก โดยในแต่ละปีทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตปีละประมาณ 300,000 คน โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด (ร้อยละ 24 ของการเสียชีวิตจากการจมน้ำทั้งหมด) รองลงมา คือ เด็กอายุ 5 - 14 ปี (ร้อยละ 19) และเยาวชนอายุ 15 - 29 ปี (ร้อยละ 14) สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2557 - 2566) พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,500 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 6,703 คน หรือกล่าวได้ว่า ในทุกๆ วันเราสูญเสียคนไทยจากการจมน้ำถึงวันละ 10 คน โดยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2 คน แนวโน้มการเสียชีวิตจากการจมน้ำของประเทศไทยในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ลดลงอย่างชัดเจน (มากกว่าร้อยละ 50) ภายหลังจากที่ทุกหน่วยงานร่วมกันดำเนินงาน แต่กลับพบว่าการจมน้ำในกลุ่มผู้ใหญ่ไม่ได้ลดลง โดยในกลุ่มอายุ 50 - 69 ปี มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด (ร้อยละ 34 ของการเสียชีวิตจากการจมน้ำทั้งหมด) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 30 - 49 ปี (ร้อยละ 29)
โดยการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้า และผลักดันให้มีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำของประเทศไทยในประเด็นที่สำคัญ เพื่อให้สอดรับกับมติของสหประชาชาติ และลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์การป้องกันการจมน้ำโลก ปี 2567 (Global status report on drowning prevention 2024) พบว่า ในส่วนของประเทศไทยมีบางเรื่องที่สามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นได้อีก เช่น หลักสูตรการว่ายน้ำและความปลอดภัยทางน้ำที่บรรจุในโรงเรียน การติดตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อจำกัดการเข้าถึงแหล่งน้ำ การมีเจ้าหน้าที่ Lifeguard ประจำบริเวณสระว่ายน้ำสาธารณะ การมีโปรแกรมการฝึกอบรมการช่วยเหลือและการกู้ชีพ การรณรงค์ให้ตระหนักถึงอันตรายจากการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหรือขณะทำกิจกรรมทางน้ำ รวมถึงประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการกั้นรั้วรอบสระว่ายน้ำ
ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเร่งดำเนินการในประเด็นที่องค์การอนามัยโลกให้ข้อเสนอแนะไว้ รวมถึงดำเนินการตามมติสหประชาชาติ และที่สำคัญสุดคือ เพื่อลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของประเทศไทย การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในครั้งนี้จึงเป็นการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานจากการประชุมที่ผ่านมา ซึ่งได้คัดเลือกประเด็นสำคัญ จำนวน 3 เรื่อง คือ 1) เสื้อชูชีพ 2) เจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard) และ 3) การป้องกันการจมน้ำในเด็ก โดยเด็กอายุ 6 ปี ต้องสามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้ และเด็กอายุ 12 ปี สามารถ CPR ได้ รวมถึงการร่วมกันพิจารณาข้อเสนอในการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2568 เพื่อมุ่งเน้นการลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำในกลุ่มอายุ 15 ปี ขึ้นไป รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการป้องกันการจมน้ำกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และเด็กออทิสติก เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม/เสมอภาคทางสังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
*****************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568