รองปลัด สธ. เผย การส่งทีมแพทย์ช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว "เมียนมา" เน้นความปลอดภัยสูงสุด ตามความสมัครใจ ปฏิบัติงานทีมละ 1 สัปดาห์
- สำนักสารนิเทศ
- 489 View
- อ่านต่อ
องคมนตรี ติดตามการพัฒนางานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ยกระดับคุณภาพบริการครอบคลุมทั้งคัดกรอง ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมกับชุมชน ช่วยผู้ป่วยเบาหวานหยุดยา/ลดยา ด้วยเทคนิค 3 ส. 3อ. 1น. ประหยัดค่ายาได้เกือบ 24,000 บาทต่อปี
วันนี้ (6 มีนาคม 2568) ที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง จ.นครศรีธรรมราช นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รับฟังผลการดำเนินงาน พร้อมมอบถุงพระราชทาน และให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน
นพ.ปิยะ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง ได้น้อมนำพระราชดำริ พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว เป็นปณิธานในการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ต่าง ๆ อาทิ มาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO 15189: 2012, ISO 15190: 2020 มาตรฐานห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย มาตรฐาน HA ยาเสพติด รางวัลโรงพยาบาลอัจฉริยะ ระดับเพชร รางวัล Nursing Quality Assessment (NQA) ระดับ NQA Class เป็นต้น และได้เพิ่มการเข้าถึงบริการคัดกรอง ป้องกัน และรักษา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน อาทิ คัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติฯ โดยปี 2568 ให้บริการคัดกรองแล้ว 92 ราย ได้รับการส่งต่อ 7 ราย, ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงอายุ 11-20 ปี 1,648 โดส, ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร และผู้นำทางศาสนา 7,200 รูป/ท่าน ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ส่งเสริมพัฒนาการและสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ด้วยโปรแกรมกลุ่มกิจกรรมสำหรับครอบครัวเด็กปฐมวัย พัฒนาทักษะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ด้วยเทคนิค “กอด เล่า เล่น เต้น วาด สร้างสมาธิ” อีกทั้ง พัฒนานวัตกรรมการให้บริการ อาทิ คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยการส่องกล้อง (Colonoscopy) โดยปี 2566 - 2567 คัดกรอง 328 ราย พบผลผิดปกติส่งรักษาต่อโรงพยาบาลแม่ข่าย 147 ราย
นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมสุขภาพดีวิถีใหม่ วิถีธรรม วิถีไทย วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผ่านกระบวนการ 3 ส. (สวดมนต์ สมาธิ สนทนา) 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) และ 1 น. (นาฬิกาชีวิต) ผู้ป่วย 26 ราย สามารถหยุดยาได้ 8 ราย ลดยาได้ 7 ราย กินยาเท่าเดิม 5 ราย และไม่มียา 6 ราย ช่วยลดเงินค่ายาได้ 23,980.50 บาทต่อปี ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนลดลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ใช้สารเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBTx) มีผู้เข้ารับการบำบัด 31 ราย ไม่กลับไปเสพซ้ำร้อยละ 67.7
*************************************************** 6 มีนาคม 2568