กระทรวงสาธารณสุข แจ้งค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน 18 จังหวัด "ลำพูน-น่าน" ระดับสีแดง เตือนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง อยู่ในห้องปลอดฝุ่น หากออกข้างนอกให้สวมหน้ากากป้องกัน ด้านจักษุแพทย์ เผย การสัมผัสฝุ่นระยะสั้นเสี่ยงเป็นโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ ภูมิแพ้ขึ้นตา ตาแห้ง และกระจกตาอักเสบ ส่วนระยะยาว มีรายงานในวารสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องว่าอาจเกิดโรคเซลล์ต้นกำเนิดเยื่อผิวกระจกตาบกพร่อง จอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน ต้อกระจก

          วันนี้ (7 มีนาคม 2568) ที่ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 กระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมด้วย นพ.วีรภัทร อุดมวงศ์ จักษุแพทย์ด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ แถลงสถานการณ์และการดูแลผลกระทบต่อดวงตาจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดย ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษวันนี้ ภาพรวมสถานการณ์ใกล้เคียงกับเมื่อวาน โดยมีจังหวัดที่ค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม รวม 18 จังหวัด โดยอยู่ระดับสีส้ม (37.6 - 75 มคก./ลบ.ม) เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 16 จังหวัด และระดับสีแดง (75.1 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) มีผลกระทบต่อสุขภาพ 2 จังหวัด คือ ลำพูน และ น่าน ซึ่งต้องขอประชาชนให้งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรอยู่ในห้องปลอดฝุ่น และหากต้องออกข้างนอกให้สวมหน้ากากป้องกัน 

           ด้าน นพ.วีรภัทร กล่าวว่า ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อดวงตา ขึ้นอยู่กับปริมาณ ความหนาแน่นของฝุ่น ระยะเวลาที่สัมผัส และความแข็งแรงของเยื่อบุผิวดวงตาของแต่ละบุคคล ซึ่งกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีภูมิแพ้เยื่อบุตาอยู่เดิม จะมีอาการคันตา เคืองตาได้ง่าย, ผู้ที่มีภาวะตาแห้ง จะมีอาการแย่ลง, ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ จะระคายเคืองตามากขึ้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีมลภาวะสูงและสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานาน กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตาเรื้อรังอื่นๆ เป็นต้น โดยโรคตาที่พบจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระยะสั้น ได้แก่ อาการตาแดง เคืองตา คันตา มีขี้ตา โรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ โรคภูมิแพ้ขึ้นตา โรคตาแห้ง และโรคกระจกตาอักเสบ 

          นพ.วีรภัทรกล่าวต่อว่า เพื่อปกป้องดวงตาในช่วงที่มีสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แนะนำให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง และหากอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 สูง ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ รวมถึงใส่แว่นกันลม ใช้เครื่องกรองอากาศช่วย และเมื่อได้รับสัมผัสฝุ่นปริมาณมาก อาจล้างตาด้วยน้ำต้มสุก น้ำเกลือสะอาด หรือหยอดน้ำตาเทียม และหากมีอาการตาแดง เคืองตามาก ให้รีบพบจักษุแพทย์ ทั้งนี้ มีรายงานในวารสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ระบุถึงผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว อาจทำให้เกิดโรคเซลล์ต้นกำเนิดเยื่อผิวกระจกตาบกพร่อง โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อหิน โรคต้อกระจก แต่ต้องมีการเก็บข้อมูลในระยะยาวเพิ่มขึ้นต่อไป 

 ******************************************* 7 มีนาคม 2568



   
   


View 483    07/03/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ