ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เม.ย. 53 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 521 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 46 คน ผู้บาดเจ็บ 585 คน รวมสะสม 4 วัน (วันที่ 12 – 15 เม.ย. 53) เกิดอุบัติเหตุทางถนน 2,515 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 212 คน ผู้บาดเจ็บ 2,734 คน ศปถ. ได้สั่งการให้จังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาลเน้นการปฏิบัติการอย่างเข้มข้นบนถนนสายหลัก เตรียมรับการเดินทางกลับของประชาชน พร้อมเข้มงวดการเรียกตรวจและดำเนินคดีตาม 10 มาตรการหลักในการบังคับใช้กฎหมาย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานแถลงข่าวฯ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เม.ย. 53 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “สงกรานต์นี้ ขับขี่ปลอดภัย คนไทยรักกัน” เกิดอุบัติเหตุ 521 ครั้ง ลดลงจากปี 2552 (528 ครั้ง) 7 ครั้ง ร้อยละ 1.33 ผู้เสียชีวิต 46 คน ลดลงจากปี 2552 (49 ราย) 3 ราย ร้อยละ 6.12 ผู้บาดเจ็บ 585 คน ลดลงจากปี 2552 (586 คน) 1 คน ร้อยละ 0.17 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 41.65 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.38 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.38 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.72 บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 35.70 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.12 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กลางคืนโดยเฉพาะช่วงเวลา 16.01- 20.00 น. ร้อยละ 33.40 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 53.41 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 31 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 6 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 34 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ อำนาจเจริญ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 51 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บมี 3 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,558 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 67,138 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 661,704 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 82,125 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.41 ของการเรียกตรวจ โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 26,491 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 24,427 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน (วันที่ 12 – 15 เม.ย. 53) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,515 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (2,468 ครั้ง) 47 ครั้ง ร้อยละ 1.90 ผู้เสียชีวิตรวม 212 คน ลดลงจากปี 2552 (220 คน) 8 คน ร้อยละ 3.64 ผู้บาดเจ็บรวม 2,734 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (2,658 คน) 76 คน ร้อยละ 2.86 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ พิษณุโลก 98 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 12 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และพิษณุโลก 110 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 4 วัน มี 14 จังหวัด นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้วันนี้เป็นวันหยุด แต่ธนาคารและบริษัทเอกชนบางแห่ง ได้เปิดทำการแล้ว ทำให้มีประชาชนบางส่วนทยอยเดินทางกลับตั้งแต่เมื่อวานนี้ ส่งผลให้มีปริมาณรถหนาแน่นบนถนนสายหลัก ศปถ. ได้สั่งการให้จังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาลเน้นการปฏิบัติการอย่างเข้มข้นบนถนนสายหลักระหว่างวันที่ 16 – 18 เมษายน 2553 เพื่อเร่งระบายรถและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงและจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และจากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 4 วันที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุหลักเกิดจากการเมาสุรา และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดการเรียกตรวจและดำเนินคดีตาม 10 มาตรการหลักในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงกวดขันรถกระบะที่ดัดแปลงให้มีที่นั่งซ้อนกันหลายชั้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ ตลอดจนเข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีการเฉลิมฉลองเล่นน้ำสงกรานต์ติดต่อกันหลายวัน ผู้ขับขี่อาจมีอาการเมาสุราหรืออ่อนล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงขอให้เจ้าหน้าที่เน้นการเรียกตรวจสภาพความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการหลับใน ทั้งนี้ ช่วงการเดินทางกลับคาดว่าจะมีปริมาณการใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก ผู้ขับขี่ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าปกติ ผู้ขับขี่ควรเลือกใช้เส้นทางที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพการจราจรติดขัด ผู้ที่ต้องเดินทางผ่านกรุงเทพฯและจังหวัดขนาดใหญ่ ขอให้ใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง หรือติดตามข่าวสารการจราจรทางสถานีวิทยุเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ ท้ายนี้ ขอฝากเตือนผู้ขับขี่ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีอาการอ่อนเพลียหรือง่วงนอน ให้จอดแวะพักในบริเวณที่ปลอดภัย หากต้องเดินทางเป็นระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร ควรหาผู้ขับรถสับเปลี่ยน เพื่อลดความอ่อนเพลียขณะเดินทาง ตลอดจนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจต่างๆ และปฏิบัติตาม กฎจราจรและมาตรการ 3 ม. 2 ข 1 ร. อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้น ************************************************* 16 เมษายน 2553


   
   


View 12    17/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ