จิตแพทย์ เตือนนักดื่มที่ดื่มฉลองสงกรานต์ยาวติดต่อกัน และหยุดกะทันหันเพราะหมดเทศกาลสงกรานต์ อาจเกิดอาการถอนเหล้า หากไม่รุนแรงอาการจะเพียงอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน สั่นเล็กน้อย หงุดหงิด นอนไม่หลับ หากรุนแรง จะมีอาการประสาทหลอน พูดเพ้อเจ้อ สับสน มือสั่นมาก เหงื่อออกมาก ชัก และอาจโคม่าได้ ควรรีบพบแพทย์ ส่วนใหญ่จะเกิดหลังหยุดเหล้าประมาณ 2-3 วัน ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมากขึ้น

          นายแพทย์ธงชัย วชิรพิณพง จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ทุกปี ปัญหาที่มักเกิดตามมาทุกครั้งคือเรื่องของคนที่ดื่มสุราฉลองเทศกาลติดต่อกันหลายวัน เมื่อหยุดดื่มเพราะต้องเดินทางกลับไปทำงานอาจเกิดภาวะถอนเหล้า ส่วนใหญ่อาการเกิดจะหลังหยุดดื่มประมาณ 2-3 วัน บางรายมีอาการน้อย บางรายอาการมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ติดสุราเรื้อรังจะเกิดอาการรุนแรง เนื่องจากตับถูกทำลายมาก    
นายแพทย์ธงชัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ที่ดื่มทั่วไปส่วนใหญ่อาการมักจะไม่รุนแรง มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน มือสั่นเล็กน้อย หงุดหงิด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 2-3 วัน แต่ถ้ามีอาการมากจะมีอาการทางระบบประสาท พูดจาเพ้อเจ้อ สับสน มือสั่นมาก เหงื่อออกมาก เห็นภาพหลอน ชักและอาจโคม่าได้ ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และแจ้งประวัติการดื่มเหล้าแก่แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การดูแลอย่างถูกวิธี ซึ่งอาจให้ยาช่วยลดอาการถอนพิษสุรา ให้วิตามินบำรุงสมองและร่างกาย
นายแพทย์ธงชัยกล่าวอีกว่า ในกลุ่มของผู้ที่ป่วยทางจิตเวชอยู่แล้ว เช่นเป็นโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งปกติแพทย์ห้ามไม่ให้ดื่มเหล้าอยู่แล้ว เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นให้โรคกำเริบ หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปดื่มเหล้า ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อปรับยาควบคุมอาการไม่ให้โรคกำเริบรุนแรง
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ดื่มเหล้าส่วนใหญ่มักจะมีอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากขณะดื่มมักไม่รับประทานอาหาร จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดสารอาหาร ระดับเกลือแร่ในร่างกายอยู่ในสภาวะไม่สมดุล ดังนั้นจึงขอแนะนำให้นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น หรือรับประทานวิตามินเสริม และดื่มน้ำหวานเพื่อให้ร่างกายสดชื่นขึ้น ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวมีสารประเภทคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ จะไปกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวมากขึ้นขณะที่ร่างกายต้องการพักผ่อน และหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท เนื่องจากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จากการหลับในเพราะความอ่อนเพลีย และการตัดสินใจยังไม่ดีพอ  
นายแพทย์ธงชัยกล่าวต่ออีกว่า สำหรับผู้ที่มีความเชื่อว่าหลังหยุดดื่มเหล้าใหม่ๆ จะต้องใช้วิธีเติมเชื้อ โดยลดปริมาณการดื่มน้อยลงเรื่อยๆ และค่อยๆหยุด เพราะกลัวว่าหากหยุดดื่มทันทีจะทำให้เกิดอาการถอนเหล้ารุนแรงนั้น   ส่วนใหญ่มักใช้วิธีนี้ไม่สำเร็จ พอดื่มไปแล้วก็จะติดลม หยุดไม่ได้ และอาจกลายเป็นผู้ติดสุรารายใหม่ได้ 
 ***************************************      18 เมษายน 2553


   
   


View 11    18/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ